คำว่า Attraction and Retention ยังคงเป็นสองสิ่งสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม ยิ่งในช่วงปีสองปีที่ผ่านไปที่เกิดวิกฤติโควิด พนักงานหลายคนได้ตระหนักแล้วว่า เขาสามารถทำงานได้แบบยืดหยุ่น สร้างผลงานได้ไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหน เวลาใด อยากได้คุณภาพชีวิต และสุขภาพที่ดี ฯลฯ ก็เลยเป็นเหตุให้เกิดการลาออก เปลี่ยนงานกันมากขึ้นไปทั่วโลก
เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้บริหาร และ HR ขององค์กรต่าง ต้องพยายามหาแนวทางในการที่ดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามา และเก็บรักษาคนเก่งๆ เหล่านี้ไว้ให้ทำงานกับองค์กรได้นานที่สุด
ประกอบกับวิถีชีวิต มุมมองความคิด และความเชื่อของคนทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็เลยทำให้ต้องมีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนปัจจัยในการบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยและทันต่อความต้องการของคนในสมัยนี้ด้วยเช่นกัน
จากนิตยสาร People Management ฉบับ มกราคม 2022 ล่าสุด ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่จะดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานในยุคใหม่นี้ ว่ามีอะไรบ้าง เรามาดูรายละเอียดกันครับ
- Training, Skill Development or mentoring ปัจจัยแรกที่พนักงานรุ่นใหม่ต้องการก็คือ การพัฒนาพนักงาน เขาต้องการให้องค์กรที่เขาทำงานด้วยนั้น มีระบบการพัฒนาทักษะพนักงานอย่างจริงจัง และทันต่อยุคสมัยจริง ๆ เพราะความรู้ ทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นเร็วมาก องค์กรเองก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น พนักงานก็ต้องการที่จะได้รับการพัฒนาให้ทันต่อสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น องค์กรใด ที่มีระบบการพัฒนาพนักงาน มีระบบพี่เลี้ยงที่ดี ทีทันสมัย ก็จะดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานไว้ได้ดีกว่า
- More Flexible Work Schedule and location ต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม ก็เป็นผลพวงมาจากโควิดที่ทำให้พนักงานมีโอกาสทำงานจากที่บ้าน ต่างที่ ต่างเวลากัน แต่สามารถสร้างผลงานได้ พอเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ องค์กรเรียกตัวกลับทำงานในออฟฟิศ 100% พนักงานก็ทยอยลาออก เพราะต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า ดังนั้นองค์กรไหนที่ปรับเปลี่ยนเวลาทำงาน สถานที่ทำงานให้ยืดหยุ่น ก็จะสามารถดึงดูด และเก็บรักษาพนักงานในยุคนี้ได้ดีกว่าเช่นกัน
- More non-financial benefits ต้องการสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงินมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนใหญ่ที่พนักงานต้องการจะเป็นสวัสดิการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นมากกว่า และส่งเสริมความยืดหยุ่นและความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวมากขึ้น เช่น ต้องการวันหยุดมากขึ้น โดยที่ยังได้รับค่าจ้าง ต้องการบรรยากาศในการทำงานที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีฝุ่น ไม่มีมลพิษในออฟฟิศ และสวัสดิการที่ส่งเสริมสุขภาพกายและใจที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของ Mental Health ของพนักงาน
- More Compensation ต้องการค่าจ้างเงินเดือนที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ของแพงขึ้น ค่าครอบชีพสูงขึ้น ก็เลยต้องการให้องค์กรมีการปรับฐานเงินเดือนให้สูงขึ้น เพื่อให้ทันต่อค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันนี้องค์กรใดที่เสนอค่าจ้างเงินเดือนในอัตราที่แข่งขันได้ จนถึงอัตราที่สูงกว่าตลาดเล็กน้อย ก็มักจะสร้างแรงดึงดูดได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ดี ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดและเก็บรักษาพนักงาน ก็ต้องมีองค์ประกอบอื่น ตามที่กล่าวมาข้างต้นด้วย จึงจะทำให้การดึงดูดและเก็บรักษาคนเก่ง เกิดประสิทธิผลสูงสุด
เห็นแบบนี้แล้ว องค์กรของเราถ้าต้องการที่จะดึงดูดคนเก่ง ๆ และอยากให้คนเก่ง ๆ อยู่ทำงานกับเราไปนาน ๆ ก็คงต้องหันกลับมาพิจารณาระบบและปัจจัยต่าง ๆ ขององค์กรเราเองว่าสอดคล้องกับแนวทางที่เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน และสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน
เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปพร้อมกัน เพราะยอมรับว่ามันยาก แต่เราสามารถเริ่มปรับเปลี่ยนไปทีละอย่างได้ อะไรที่มีความสำคัญต่อพนักงานมากที่สุด ก็เปลี่ยนเรื่องนั้นไปก่อน แล้วค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ให้ลงตัวมากที่สุด ก็อยู่ที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรแล้วล่ะครับว่า เขาใส่ใจในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรมากน้อยแค่ไหน ใส่ใจแค่เพียงคำพูด หรือใส่ใจจริง ๆ
ใส่ความเห็น