เรามักจะได้ยินคำถามนี้บ่อย ๆ ว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้าง Employer Branding หรือ ที่แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า ภาพลักษณ์ของนายจ้าง พอไปถาม CEO ก็ตอบมาว่า หน้าที่ของ HR ไง พอไปถาม HR บ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า หน้าที่ของ CEO และผู้บริหารทุกคนไง
ตกลงใครกันแน่ที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการเป็นนายจ้างขององค์กร
คำตอบก็คือ ทุกคน ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนั้น จริงมั้ยครับ ภาพลักษณ์ที่ดีของนายจ้าง มันคงสร้างไม่ได้จากใครคนใดคนหนึ่ง ภาพของทั้งองค์กรที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า นี่คือองค์กรที่ดี น่าทำงานด้วยจังเลย ภาพนี้ คงไม่ใช่แค่หน้าที่ของ HR หรือ CEO เพียงคนเดียวที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
ถ้าเราต้องการที่จะได้ภาพลักษณ์ที่ดีของนายจ้าง ใครต้องทำหน้าที่อะไรกันบ้าง มาดูกันครับ
- CEO และ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร คนกลุ่มนี้คือ ผู้ที่จะต้องริเริ่ม และกำหนดนโยบายด้าน Employer Branding ให้ชัดเจน ต้องเป็นผู้ผลักดัน และมี passion จริง ๆ ที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ไม่ใช่แค่เพียงประกาศปาว ๆ แค่นั้น แต่ต้องออกมาจากส่วนลึกในจิตใจจริง ๆ มีความต้องการสร้างจริง ๆ มิฉะนั้นแล้วมันก็จะกลายเป็นแค่เพียงนโยบายในแผ่นกระดาษที่ดูสวยหรู แต่ของจริงเน่าเฟะ
- ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล นี่คือหน่วยงานที่เข้ามาเป็นแม่งาน ที่คอยดูแลโครงการนี้ให้มีความเป็นไปได้จริง บริหารจัดการระบบ HR และระบบบริหารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้มาตรฐาน และได้ตามความต้องการของพนักงาน บางองค์กร HR เมื่อได้รับนโยบายมาแล้ว ก็เริ่มตั้งเป้าหมายเลยว่า ภายในปีนี้จะต้องได้รับรางวัลนายจ้างดีเด่นให้ได้ แล้วก็ไปหาเกณฑ์ต่าง ๆ มาพิจารณา แล้วนำเสนอ CEO เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นการปฏิบัติจริงในองค์กร
- ผู้จัดการทุกระดับ กลุ่มนี้จะเป็นคนที่ลงมือทำตามนโยบายที่กำหนดไว้ ว่าถ้าเราจะเป็นนายจ้างดีเด่น และจะสร้าง Employer Branding ให้เกิดขึ้นจริงได้ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไรบ้าง บางคนไม่เคยคิดจะดูแลพนักงานเลย ก็ต้องเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมใหม่หมด และต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรด้วย เพราะเราต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่แค่คว้ารางวัลมาได้ จากนั้นก็กลับสู่สภาพเดิมอีก
- พนักงานทุกคน พนักงานในองค์กรจะเป็นผู้ที่สร้าง Employer Branding ด้วยเช่นกัน เป็นผู้ที่คอยประเมิน ให้ความเห็น และสื่อสาร อีกทั้งยังเป็นผู้กระจาย เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กรสู่สายตาคนภายนอก และถือเป็นหัวใจสำคัญว่าองค์กรได้สร้างภาพลักษณ์ได้จริงหรือไม่จริง พนักงานทุกคนจะต้องยอมรับ และมองไปในทางเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า การสร้าง Employer Branding นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนี่ง จะต้องร่วมกันสร้างทั้งองค์กร ขับเคลื่อนโดยผู้บริหาร ปฎิบัติโดยผู้บริหาร และผู้จัดการทุกระดับ โดยมี HR เป็นคนสนับสนุนในด้านต่าง ๆ
และอีกประเด็นที่สำคัญก็คือ Employer Branding ไม่ได้ใช้เวลาสร้างกันแบบ 1-2 เดือนก็สำเร็จ บางองค์กรใช้เวลามากกว่า 3 ปีอย่างเร็ว กว่าที่ทุกคนทั้งในและนอกองค์กรให้การยอมรับว่านี่คือองค์กรที่มีภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นองค์กรที่คนต้องการเข้ามาร่วมงานด้วยจริง ๆ
ใส่ความเห็น