“อยากเปลี่ยนชื่อจาก HR เป็น HRBP หรอ เอาสิ อยากเปลี่ยนก็เปลี่ยน”

นี่เป็นคำพูดของผู้บริหารที่ตอบกลับผู้จัดการฝ่ายบุคคลขององค์กรหนึ่ง ท่านอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ผมได้มีโอกาสไปสอบถามผู้บริหารแห่งนี้ว่า รู้สึกอย่างไรกับการเปลี่ยนชื่อดังกล่าว คำตอบที่ได้มาก็คือ

“ก็ดูทันสมัยดีนะ เห็นใครๆ ก็ใช้ชื่อนี้กันในยุคนี้”

สอบถามต่อไปอีกว่า แล้วคาดหวังอะไรกับบทบาทของฝ่ายบุคคลที่มีการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งไปแบบนี้

คำตอบที่ได้มาก็คือ

“ผมคิดว่าฝ่ายบุคคลจะเปลี่ยนอีกกี่ชื่อ งานก็เหมือนเดิม คำว่า Business Partner ในทางปฏิบัติคงจะยากนะ เพราะ HR ที่ผมมีอยู่นี่แทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทเลยด้วยซ้ำไป ให้เขาดูแลเรื่องของการบริหารคนเข้าออก ขาด ลา มาสาย และทำให้พนักงานอยู่ในระเบียบ มาทำงานให้ผมอย่างเต็มที่ก็น่าจะเพียงพอ”

นี่คือความคิดเห็นของผู้บริหารที่มีต่อฝ่ายบุคคลของบริษัท ซึ่งมองว่ายังขาดอีกเยอะกว่าที่จะเป็น Business Partner ตัวจริงได้ ถามว่าฝ่ายบุคคลไม่เก่งหรือ คำตอบที่ได้มาก็คือ เก่ง มีคนเก่ง ๆ หลายคนในฝ่ายบุคคล แต่สิ่งที่ทำให้ยังไม่สามารถเป็น Business Partner ได้ก็คือ ทีมผู้บริหารยังไม่เชื่อใจ ยังไม่ไว้ใจ ที่จะฝากส่วนหนึ่งของธุรกิจให้กับทาง HR

ผมคิดว่านี่คือความยากของ HRBP ตัวจริง

ในปัจจุบันนี้ บรรดา HRBP ส่วนใหญ่ รับทราบบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะ Business Parter ว่าจะต้องเข้ามาช่วยธุรกิจ และช่วย CEO ในการบริหารธุรกิจให้ไปสู่อนาคตได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารคน

แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นก็คือ How เราจะสร้างความเชื่อใจ สร้างความไว้วางใจ ให้เกิดขึ้นกับทีมผู้บริหารขององค์กรได้อย่างไร ว่า HR นี่ก็เป็น Business Partner ได้นะ

สอบถามผู้บริหารระดับสูงไป ท่าน ๆ ก็ตอบว่าขอเพียง HR แสดงความสามารถดังต่อไปนี้ให้เขาเห็น เพื่อสร้างการยอมรับ เขาก็จะเปิดใจและเปิดทาง ให้โอกาส HR มาเป็น Business Partner ได้

  • ต้องแสดงความรู้ และทักษะทางด้านธุรกิจให้ผู้บริหารเห็นมากขึ้น
  • ต้องรู้กระบวนการทางธุรกิจขององค์กร ตอบได้ว่าอะไรคือจุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจเรา
  • มองภาพอนาคตของธุรกิจตนเองออกได้อย่างชัดเจน ว่าพอจะเดินไปทางไหนได้บ้าง
  • แสดงความสามารถในการปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารคนขององค์กรให้สอดคล้องกับธุรกิจ
  • นำเสนอให้ผู้บริหารเห็นภาพความเชื่อมโยง และวิธีการ แนวทางใหม่ๆ ได้ รวมทั้งพอที่จะสร้างบทพิสูจน์ได้ว่า ถ้าธุรกิจปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารคนใหม่ จะทำให้ส่งผลบวกอย่างไร สามารถทำออกมาเป็นตัวเลขที่วัดได้ ไม่ใช่แค่บอกว่า ทำสิ รับรองว่ามันดีขึ้นแน่ ๆ แต่ไม่มีหลักฐานอะไรมาพิสูจน์ได้ในทางปฏิบัติ
  • สามารถสื่อสาร กับผู้บริหารได้อย่างเข้าใจ และสื่อสารกับพนักงานทุกคนในองค์กรอย่างเข้าใจเช่นกัน และสามารถเชื่อมโยงความเข้าใจเหล่านี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์และผลลัพธ์ทางธุรกิจได้

นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรหนึ่งบอกว่า ถ้าHR จะเป็น HRBP ได้จริง จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และต้องสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารทุกคนว่า เขาไว้วางใจได้ และมีความสามารถมากพอที่จะเข้ามามีส่วนในการกำหนดทิศทางของธุรกิจขององค์กรได้

ถ้าทำได้ เราก็จะสามารถเป็น HRBP ตัวจริงได้ ไม่ใช่แค่เพียงเปลี่ยนชื่อเท่านั้น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: