จะ Reward พนักงาน Gen Z อย่างไรดี

มีคำถามจากหลายองค์กร เนื่องจากในปีใหม่นี้จะมีแผนในการสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่เข้ามาทำงานกับองค์กร ซึ่งพนักงานใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักขององค์กรที่สอบถามเข้ามาก็คือ กลุ่มพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ หรือที่เราเรียกกันกว่า Gen Z

คำถามมีอยู่ว่า เราจะจ่ายค่าตอบแทน หรือ จะ Reward พนักงานกลุ่ม Gen Z นี้อย่างไรดี

ผมขออนุญาตอ้างอิงงานวิจัยที่ชื่อว่า Reward and Generation Z ของทาง CIPD เมื่อปี 2020 รวมทั้งจากการเก็บข้อมูลในการทำ Engagement ของทางบริษัทผม กับลูกค้า มาประกอบกัน

ผลจากการศึกษาพบกว่า Gen Z เป็น กลุ่มพนักงานที่เอาทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องของ Rewards ทั้งหมดตั้งแต่ Generation พนักงานในอดีตจนถึงปัจจุบันมาปะปนกัน คือ เขาต้องการทั้งรางวัลที่เป็นตัวเงิน และรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินประกอบกันไป

  • Extrinsic Rewards ประกอบไปด้วย อัตราเงินเดือนที่แข่งขันได้ หรือสูงกว่าตลาด อัตราค่าตอบแทนอื่นๆ ที่จูงใจผลงาน อัตราโบนัสตามผลงานที่สมน้ำสมเนื้อ ต้องการ เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพที่ชัดเจน ตอบโจทย์ passion ของตนเอง รวมทั้งต้องการ Work-Life Balanced ในการทำงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำงานแบบยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นความยืดหยุ่นทางด้านเวลาทำงาน และสถานที่ทำงาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตของ Gen Z จะเอื้อไปทางนี้มากหน่อย เขาจะจินตนาการไม่ออกว่า ชีวิตที่ต้องทำงานแบบ เข้างาน 8 โมง เลิกงาน 5 โมงเย็นนั้นเป็นอย่างไร รวมทั้งจินตนาการไม่ออกว่า การทำงานทุกวันในออฟฟิศนั้นมันดีอย่างไร เพราะตอนนี้ทุกที่ก็สามารถทำงานได้หมด เป็นต้น
  • Intrinsic Rewards รางวัลประเภทนี้ จะประกอบไปด้วย การฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน การสอนงาน ความพึงพอใจในตัวนาย และสภาพการทำงานที่ดี เหมาะสมกับสภาพการใช้ชีวิตของตนเอง ต้องการเพื่อนร่วมงานที่ดี นายที่ดี ที่เข้าใจในตัวพนักงานอย่างดี

จะเห็นว่า Gen Z นี้ เห็นข้อบกพร่องของการให้รางวัลตั้งแต่ Baby boom มาจนถึง Gen Y และมองเห็นว่า ทุกอย่างต้องประกอบกันจนกลายเป็นระบบ Rewards ที่เหมาะสมสำหรับตัวเขา ซึ่งถ้าเขาได้ทั้ง รางวัลที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงินประกอบกันแล้ว เขาก็จะมี Engagement ต่อองค์กรที่เขาทำงานด้วย

ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า ในเรื่องของ Extrinsic Rewards ที่เป็นรางวัลที่เป็นตัวเงิน และจับต้องได้ทั้งหมดนั้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูด Gen Z เก่ง ๆ ให้ต้องการเข้ามาทำงานกับองค์กรได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับองค์กรที่เสนออัตราค่าจ้างเงินเดือนและ Extrinsic Rewards ที่ต่ำกว่า

ส่วน Intrinsic Rewards ซึ่งเป็นรางวัลที่จับต้องไม่ได้ เป็นในด้านของความรู้สึกนั้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บรักษา Gen Z มือดี ๆ ขององค์กรไว้ให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบรรยากาศในการทำงาน นายที่ดี เพื่อนที่ดี ความสนุกสนานในการทำงาน และความสบายใจที่ทำงานกับที่นี่ ฯลฯ

พอเห็นผลจากงานวิจัยแบบนี้แล้ว องค์กรที่ต้องการจะดึงดูด และเก็บรักษา Gen Z เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีให้กับองค์กรนั้น ก็คงต้องพิจารณาออกแบบระบบ Rewards ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นก็คือ ระบบ Total Rewards ที่เราเคยได้ยินกันมานั่นเอง

ในยุคนี้เทคโนโลยี และอุปกรณ์เครื่องมืออันทันสมัย มีส่วนทำให้การออกแบบระบบ Total Rewards ให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงานแต่ละรุ่นได้ไม่ยากเหมือนในอดีตอีกต่อไป

ดังนั้น ก็อยู่ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้บริหารองค์กร ของ HR ขององค์กรว่า เอาจริงเอาจังกับเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลมากน้อยแค่ไหน

ยุคนี้ถ้ายังมีผู้บริหารที่คิดว่า คนก็คือแค่ลูกจ้างที่จ่ายค่าจ้างให้มาทำงานแค่นั้นก็จบ ถ้ายังคิดแบบนี้ องค์กรก็คงจะดึงดูด และเก็บรักษาคนเก่งๆ ในแต่ละรุ่นได้ยาก สุดท้ายก็จะมีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จริงมั้ยครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: