สวัสดิการเพื่อการเก็บรักษาพนักงานให้อยู่ทำงานนาน ๆ มีอะไรบ้าง

มีคำถามมาจากท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก เนื่องจากได้อ่านบทความเกี่ยวกับสวัสดิการที่น่าจะจัดให้มีขึ้นในยุคนี้ จากบทความเมื่อสองสามวันก่อน คำถามมีอยู่ว่า “มีสวัสดิการอะไรบ้าง ที่สามารถทำให้พนักงานอยู่ทำงานกับเราไปนาน ๆ ได้”

เรื่องของการเก็บรักษาพนักงานมือดี ให้อยู่ทำงานกับเราไปนาน ๆ นั้น องค์กรประกอบมีมากกว่าแค่เรื่องของสวัสดิการ ถ้าจะว่ากันจริง ๆ ก็ต้องลงลึกกันไปถึงเรื่องของ เรื่องค่าตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ที่แข่งขันได้หรือไม่ เรื่องของบรรยากาศในการทำงาน การดูแลกันในบริษัท การพัฒนา ความก้าวหน้าในสายอาชีพ ฯลฯ

ถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องของสวัสดิการอย่างเดียว ว่า จะมีสวัสดิการอะไรบ้างที่จะช่วยในการเก็บรักษาพนักงานให้อยู่ทำงานกับองค์กรในระยะเวลาที่นานขึ้น ไม่เปลี่ยนงานเร็วจนเกินไปนั้น ก็จะมีดังต่อไปนี้

  • สวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปัจจุบันก็ยังมีบริษัทที่ไม่ได้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่พอสมควร กฎหมายก็ยังไม่ได้บังคับแบบจัดเต็มมากนัก พนักงานที่เข้ามาทำงาน แล้วทราบว่า บริษัทนี้ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ความรู้สึกก็จะไม่ค่อยอยากอยู่นาน เพราะยิ่งอยู่นาน ยิ่งเสียเปรียบ ถ้าเทียบกับบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมทบให้กับพนักงาน ดังนั้น พนักงานก็อาจจะมาทำงานแปป ๆ แล้วก็จากไป

  • สวัสดิการการทำงานแบบยืดหยุ่น อันนี้จะว่าไปในอนาคตจะกลายเป็นสวัสดิการสำคัญที่จะเก็บรักษาพนักงานไว้ได้อีกอันหนึ่ง พนักงานในยุคนี้ ต่างเรียนรู้แล้วว่า การทำงานไม่จำเป็นต้องมาทำที่ออฟฟิศตลอดเวลา อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ไม่ว่าเวลาไหนก็ทำงานได้เช่นกัน ดังนั้น การจัดสวัสดิการการทำงานแบบยืดหยุ่น ให้พนักงานเลือกเวลา และสถานที่ทำงานได้ จึงเป็นอีกสวัสดิการหนี่งที่สามารถใช้ในการดึงดูดคนรุ่นใหม่ และเก็บรักษาพนักงานมือดี รุ่นใหม่ ให้อยู่ทำงานกับเราได้นานขึ้น

  • Career Development อีกเรื่องหนี่งที่อาจจะไม่เชิงเป็นสวัสดิการเท่าไหร่ ก็คือ เรื่องของการพัฒนาพนักงาน เพื่อให้เติบโตไปตามสายอาชีพที่ตนชอบ ถ้าบริษัท มีระบบการพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพ ทำให้พนักงานเห็นว่า ตนเองจะสามารถเติบโตไปได้ตามงานที่ตนเองรัก เขาจะอยากอยู่ทำงานกับบริษัทไปอีกนาน หรือนานขึ้นกว่าปกติที่ควรจะเป็น เพราะถ้าเราทำให้พนักงานมั่นใจได้ว่า อยู่ที่นี่แล้วเขาจะเติบโตไปกับองค์กร และก้าวหน้าประสบความสำเร็จตามอาชีพที่พนักงานรัก เขาจะอยากอยู่ทำงานกับเราไปนาน ๆ แน่นอน

  • สวัสดิการช่วยเหลือด้านการศึกษา ในประเทศไทย ในอดีตก็มีหลายบริษัทที่จัดสวัสดิการนี้ให้กับพนักงาน โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ที่มีงบประมาณมากพอ ปัจจุบันนี้บริษัทเล็กๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน อาจจะเป็นการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือเงินทุนการศึกษาที่ให้เปล่า หรืออาจจะมีเงื่อนไขที่ต้องทำงานกับบริษัทไปอีกจำนวนกี่ปี ก็สามารถทำได้ รวมถึงการให้สวัสดิการเรื่องของเวลาที่จะไปศึกษาต่อ หรือเรียนหนังสือหลังเลิกงานได้ บางแห่งไม่ให้เลยก็มี พนักงานสอบติดปริญญาโทภาคค่ำ แต่บริษัทไม่ให้ออกก่อนเวลา หรือไม่ให้ลาเรียนอะไรได้เลย แบบนี้ก็คล้าย ๆ จะบังคับให้พนักงานเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งว่าจะทำงาน หรือจะเรียน สุดท้ายพนักงานก็ลาออกไปเรียนตามความตั้งใจของตนเอง

  • Mental Health and Wellness สวัสดิการด้านสุขภาพจิต และด้านความเป็นอยู่ของพนักงาน อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าคุณภาพชีวิตในทุกวันนี้มันไม่ได้ดี แถมยังอาจจะแย่ลงทุกวัน สภาพแวดล้อม ฝุ่นควัน การจราจร โรคภัยไข้เจ็บ ความเครียด ฯลฯ มันรุมเร้าคนทุกคน พนักงานเองก็ต้องการให้องค์กรมีการช่วยเหลือ หรือจัดสวัสดิการที่ช่วยลดภาวะความตึงเครียดลงบ้าง ดังนั้นบริษัทใด ที่มีการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพจิต และการช่วยเหลือเรื่องการยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น ก็จะทำให้พนักงานอยากอยู่ทำงานกับบริษัทนั้นนานขึ้นเช่นกัน

หลัก ๆ ก็น่าจะมีประมาณนี้ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของการเก็บรักษาพนักงานให้อยู่ทำงานกันยาว ๆ ถ้าบริษัทสามารถจัดสวัสดิการข้างต้นได้ ก็น่าจะมีผลต่อการเก็บรักษาพนักงานเก่ง ๆ ได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี แค่เพียงสวัสดิการเหล่านี้ คงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการเก็บรักษาพนักงาน

เรายังคงต้องมีองค์กรประกอบอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการพื้นฐานสำคัญ ๆ บรรยากาศในการทำงาน การดูแลของผู้จัดการ เพื่อนร่วมงาน สังคมการทำงาน วิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร ฯลฯ เรียกได้ว่า เกือบทุกอย่างมีส่วนในการช่วยทำให้พนักงานตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า

จะอยู่ หรือ จะไป

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: