3C สาเหตุหลักของการ Burnout ของพนักงาน

ช่วงเวลาที่ผ่านมาคำว่า หมดไฟในการทำงาน ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน หมดพลังในการทำงาน ฯลฯ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Burnout นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานแทบจะทุกองค์กร

เวลาคุยกับเพื่อนที่ทำงานในบริษัทต่าง ๆ ทั้งไทย และเทศ ต่างก็บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า สภาพการทำงานทุกวันนี้ ส่งผลให้เกิดอาการ burnout มากจริง ๆ เรียกว่ามากจนบางคนไม่รู้ตัวว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเองก็ว่าได้

บทความต่าง ๆ มีการนำเสนอสาเหตุของการ burnout มากมาย แต่ก็มีอยู่บทความหนึ่งจาก HBR ซึ่งสรุปความง่ายๆ ว่า สาเหตุของการที่พนักงานเกิดอาการ burnout นั้น มีอยู่ 3 ประการ หรือที่บทความนี้เรียกว่า 3C

  • Control สาเหตุแรกของอาการ burnout ของพนักงานมาจาก C ตัวแรกก็คือ Control หมายถึงพนักงานไม่สามารถที่จะควบคุมการใช้ชีวิตของตนเองได้เลย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว ทุกเวลาที่ใช้ไปนั้น มาจากการถูกควบคุมจากคนอื่นทั้งสิ้น จะทำอะไรตามความคิดของตนเอง หรือตามแผนงานที่ตนเองอยากทำนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เช่น บางคนอยากที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวในช่วงเช้าๆ กับครอบครัวบ้าง แต่กลับถูกเรียกตัวไปประชุมด่วน หรือช่วงเย็น ๆ หลังเลิกงาน อยากไปทานข้าวกับคนรู้ใจ หรือเพื่อน ๆ บ้าง แต่กลับต้องนั่งเคลียร์งานที่ยังค้างอยู่ในแต่ละวัน วางแผนงานอะไรไว้ในแต่ละวัน ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมตนเองให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ได้เลย นี่คือ การที่พนักงานไม่สามารถควบคุมในสิ่งที่ตนเองทำได้ ยิ่งเปอร์เซ็นต์ของการควบคุมตนเองน้อยลงมากเท่าไหร่ ความเครียด และอาการ burnout ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น

แนวทางในการแก้ไขเรื่องของ Control นี้ก็คือ ต้องสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างานจะต้องไม่บริหารงานแบบ Micro-management มากจนเกินไป จนพนักงานไม่มีช่องว่างจะหายใจหายคอได้เลย ผู้บริหารจะต้องเชื่อใจพนักงานมากขึ้น ในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่จะปล่อยอิสระเลยก็คงจะไม่ใช่การบริหารองค์การที่ดี

  • Compensation สาเหตุหลักของการ burnout ตัวที่สองก็คือ เรื่องของค่าตอบแทนพนักงาน เนื่องจากพนักงานในยุคนี้จะต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ต้องมีการ multi-task มากขึ้น ยิ่งในช่วงเวลาที่ผ่านไปนั้น เวลาที่มีเพื่อนพนักงานลาออกไป บริษัทก็ไม่รับคนใหม่เข้ามาทดแทน แต่เอางานของพนักงานที่ลาออกไปนั้น มากระจายให้กับพนักงานในตำแหน่งใกล้เคียงกันทำกันต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น การควบคุมการทำงาน การติดตามงาน การบริหารจัดการที่เปลี่ยนไป ทำให้พนักงานรู้สึกว่า ทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม เหนื่อยกว่าเดิม เครียดกว่าเดิม แต่ค่าตอบแทนไม่เห็นจะปรับขึ้นตามความเหนื่อย ความยากของการทำงานที่มากขึ้นเลย ก็เลยเกิดความรู้สึกไม่สมดุลระหว่าง การทุ่มเทการทำงาน ความเหนื่อย กับ ค่าตอบแทนที่ได้รับมา พอความรู้สึกแบบนี้สะสมมาก ๆ เข้าความเครียด และอาการ burnout ก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวทางในการแก้ไขที่องค์กรควรจะดำเนินการก็คือ ต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบ และปรับปรุงระบบการบริหารค่าตอบแทนให้สมดุลกับสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องคอยหมั่นตรวจสอบว่า ระดับการจ่ายของบริษัทเรายังคงสามารถแข่งขันได้กับตลาดที่เราแข่งด้วยหรือไม่ อีกทั้งยังต้องตรวจสอบดูว่า ระบบการบริหารค่าตอบแทนของบริษัทตอบแทนผลงานของพนักงานจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นแค่การให้รางวัลไปแบบง่าย ๆ เหมือนกันไปหมดทุกคน โดยไม่ดูว่าผลงานของพนักงานแต่ละคนเป็นอย่างไรเลย

  • Connection สาเหตุของการ burnout ใน C ตัวที่สาม ก็คือ ความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงในการทำงานของพนักงานในองค์กร ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเกือบสองปี แม้ว่าเราจะบอกว่ามีการประชุมผ่านออนไลน์ มีการคุยกันผ่านช่องทาง virtual meeting อย่างสม่ำเสมอ แต่ความรู้สึกของการประชุมหรือการพูดคุยกันแบบ ออนไลน์นั้น มันแตกต่างกันกับการประชุม การพูดคุยกันแบบเห็นหน้ากันอย่างสิ้นเชิง เพราะเราไม่สามารถเห็นหน้าตา และภาษาร่างกายของเพื่อน ๆ แต่ละคนในขณะประชุมกันได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น การอยู่ร่วมกันเหมือนในออฟฟิศแบบเดิม ก็หายไป การเดินผ่านไปมา การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในห้องน้ำ ในห้องครัว ของบริษัท มันหายไปหมด ก็เลยทำให้ connection ของพนักงานในการทำงานร่วมกันมันหายไปหมด นอกจากระหว่างพนักงานกันเองแล้ว ระหว่างหัวหน้าของตนเอง ผู้บริหาร จากที่เคยเดินผ่านไปผ่านมา เจอกันทักทายกัน คุยกัน พออยู่บ้านทำงาน ก็ไม่มีบรรยากาศเหล่านี้ ผลสุดท้ายพนักงานก็เริ่มรู้สึกเครียด สะสมมากๆ เข้า ก็มีอาการ burnout ตามมา

แนวทางในการแก้ไข ก็คือ เราคงต้องมีการเชื่อมโยงแบบ face to face บ้าง ไม่ใช่จะ ออนไลน์ไปตลอดเวลา การทำงานร่วมกัน ยังไงก็ต้องมีการเจอหน้ากัน พูดจากัน แบบตัวเป็น ๆ บาง ภาษากาย น้ำเสียง ของคนที่เรากำลังคุยด้วยนั้น หลายครั้งที่ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรเลย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: