แยกประเภทอัตรากำลังในองค์กร เพื่อการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์

องค์กรที่มีการวางแผนการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์นั้น จะมีการวางแผนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาคัดเลือก ก็ต้องหาคนให้ได้ตามแผนกลยุทธ์ขององค์กร การวางแผนพัฒนาพนักงาน การบริหารค่าตอบแทน การบริหารผลงาน และการให้รางวัลตอบแทนผลงาน ฯลฯ คำถามก็คือ เราบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์เหมือนกันหมดกับทุกงาน ทุกตำแหน่ง ทุกระดับในองค์กรหรือไม่

แนวทางในการตอบโจทย์การบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ให้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์มากที่สุด ก็คือ การแบ่งกลุ่มกำลังคน (Workforce Segmentation) ขององค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ของธุรกิจเสียก่อน จากนั้นจึงมาวางแนวทางว่า ในแต่ละกลุ่มของกำลังคนของเรานั้นเราจะต้องมีวิธีการบริหารจัดการในเชิงกลยุทธ์อย่างไรดี

ปกติในการแบ่งกลุ่มกำลังคน เราจะใช้เกณฑ์ 2 เกณฑ์ คือ หนึ่งความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจขององค์กร และอีกเกณฑ์ก็คือ ความหายากของทักษะที่ต้องใช้ในองค์กรของเรา ซึ่งด้วยสองเกณฑ์นี้ เราจะสามารถแบ่งกลุ่มกำลังคนของเราออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • กลุ่ม Strategic ก็คือ กลุ่มกำลังคนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของธุรกิจเรา อีกทั้งทักษะความรู้ก็ต้องใช้ทักษะสูง และหาได้ยากหน่อยในตลาด กลุ่มงานเหล่านี้ ถือเป็นงานที่เป็นหัวใจขององค์กรเลยก็ว่าได้ ถ้าขาดงานเหล่านี้ไป อนาคตขององค์กรก็น่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เช่น งานคิดค้น วิจัย งานพัฒนาธุรกิจให้ต่อยอดออกไปให้ได้
  • กลุ่ม Core ก็คือ กลุ่มกำลังคนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ แต่อาจจะใช้ทักษะไม่ค่อยลึกนัก สามารถหาพนักงานมาทำงานได้ไม่ยากเท่าไหร่นัก เช่นกลุ่มงานที่ต้องส่งมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าของเรา งานเหล่านี้ก็คือว่าเป็นงานหลักขององค์กรเช่นกัน เพียงแต่ยังพอที่จะหาพนักงานเข้ามาทำงานได้ไม่ยากนัก มีผลต่อความสำเร็จในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต
  • กลุ่ม Specialist คือ กลุ่มกำลังคนที่ทำงานที่มีความลึกทางด้านของงานมาก ๆ แต่อาจจะไม่มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่ม Strategic เป็นงานที่เน้นความรู้ และทักษะเชิงลึกเป็นสำคัญ เช่น งานค้นคว้าวิจัยด้านต่าง ๆ งานเทคนิคลึกๆ ที่มีผลต่อสินค้าและบริการขององค์กร ที่ต้องอาศัยความชำนาญ และความเชี่ยวชาญเชิงลึกมาก ๆ
  • กลุ่ม Noncore ก็คือ กลุ่มกำลังคนที่ทำงานโดยอาศัยความรู้ไม่ลึกนัก และไม่ได้เป็นงานที่มีผลต่อธุรกิจสักเท่าไหร่ กลุ่มงานเหล่านี้ เดิมทีจะเป็นงานทางด้าน Admin ต่างๆ ที่คอยช่วยสนับสนุนงานอื่น ๆ ในองค์กร ในปัจจุบันงานเหล่านี้ เรามักจะใช้การ outsource หรือ เริ่มใช้ AI เข้ามาทดแทนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ถ้าเราสามารถแบ่งกลุ่มกำลังคน หรือกลุ่มตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กรของเราออกได้เป็น 4 กลุ่มตามหลักการข้างต้น เราก็จะสามารถวางแผนบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลได้ในเชิงกลยุทธ์มากขึ้นไปอีก เพราะเราจะรู้ว่า กลุ่มตำแหน่งใดบ้างที่เราควรจะให้ความสำคัญมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสรรหาคัดเลือกคนที่เหมาะเข้ามาให้ตรง เราจะมุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มใดมากกว่ากัน ลึกกว่ากัน และที่สำคัญก็คือ เราจะวางระบบบริหารค่าตอบแทนให้แตกต่างกันได้อย่างไรบ้าง กับงานที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม

ซึ่งการบริหารจัดการแบบนี้ เราถึงจะเรียกว่า การบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์จริงๆ เพราะจุดเน้นก็คืองาน กลุ่มงาน ตำแหน่งงาน ที่มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจขององค์กรนั่นเอง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: