พนักงานควรได้รับการดูแลและเอาใจใส่ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

Burnout หรือความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการทำงานยุคนี้ โดยเฉพาะในช่วงโควิดแบบนี้ ความรู้สึกเหนื่อยล้าหมดไฟจู่มันก็เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ส่งผลต่อชีวิต และการทำงานของพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พนักงานของคุณรู้สึกหมดไฟ และเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือไม่

จากบทความชื่อ As The Great Resignation Accelerates, CEOs Face A Grand Reckoning ใน Inc Magazine เขียนโดย  Lisa Curtis ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Kuli Kuli Foods ได้ให้ความเห็นแบบง่าย ๆ ว่า องค์กรควรดูแลพนักงาน ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความคิด ความรู้สึก ไม่ใช่ ใช้งานพนักงานเหมือนกับว่าเขาเป็นหุ่นยนต์ที่ไร้ความรู้สึกใด ๆ มาทำงานได้รับเงินเดือน ก็ต้องทำงานตอบแทนกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แบบนี้รับรองว่าไม่มีพนักงานคนไหนรับได้แน่นอน

ผู้เขียนบทความข้างต้น ได้เขียนถึงสาเหตุของอาการ burnout ของพนักงานว่า มีสาเหตุมาจากการขาด 3 C ก็คือ ขาด Control, Compensation และ Connection

  • Control ก็คือการที่พนักงานไม่สามารถที่จะควบคุมในสิ่งที่ตนเองทำได้เลย ต้องทำงานโดยถูกควบคุมจากคนอื่นในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น จากนาย จากเพื่อนร่วมงาน หรือจากลูกน้องของตนเองก็ตาม เมื่อใด ที่พนักงานมีความรู้สึกว่า ถูกควบคุม โดยที่ตัวเองไม่สามารถที่จะควบคุมชีวิตของตนเองได้ อาการ Burnout ก็จะถามหาทันที เพราะเขาจะรู้สึกว่าชีวิตของเขาทำไมช่างเครียดมากมายอะไรเช่นนี้ จะหาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองยังไม่ได้เลย ดังนั้นแนวทางในการแก้ไข ก็คือ การให้อิสระในการควบคุมชีวิต และการทำงานของพนักงานมากขึ้น ซึ่งในทุกวันนี้ก็คือ การสร้างระบบการทำงานแบบยืดหยุ่น โดยที่หัวหน้าก็ต้องเข้าใจและไม่เข้าไปก้าวก่ายในสิ่งที่พนักงานออกแบบชีวิตและการทำงานมากจนเกินไป แต่อย่างไรก็ดี ความยืดหยุ่นตรงนี้ก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้การทำงานเกิดความเสียหาย
  • Compensation ค่าตอบแทนที่ให้พนักงาน เพื่อตอบแทนการทำงาน ก็ต้องสมน้ำสมเนื้อ สามารถแข่งขันได้กับตลาด และต้องตอบแทนผลงานที่พนักงานทำได้เป็นหลัก เมื่อไหร่ที่พนักงานรู้สึกว่า ตนเองทำงานมากกว่า ค่าตอบแทนที่ได้รับ เขาก็จะเริ่มรู้สึก Burnout และอยากที่จะเปลี่ยนงาน เพื่อหาองค์กรที่ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมากกว่านี้ ในเรื่องค่าตอบแทนนี้ ผู้เขียนยังย้ำว่า ไม่ใช่แค่เพียงแค่ตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่ยังต้องรวมเอาสิ่งตอบแทนการทำงานที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วย เช่น การให้คำชม การยอมรับผลงานของพนักงาน การทำให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจในการทำงาน เป็นต้น
  • Connection ก็คือเรื่องของสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม การที่เราปล่อยให้พนักงานทำงานคนเดียว โดยไม่มีการติดต่อสื่อสาร หรือดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมที่เขาอยู่ด้วย ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง นาน ๆ ไปก็จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าอะไรต่อใครเลย อาการ Burnout ก็จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น องค์กร โดยเฉพาะผู้จัดการและหัวหน้างาน จะต้องสร้างบรรยากาศในการมีส่วนร่วมระหว่างพนักงาน ต้องทักทาย และสร้างสังคมการทำงานร่วมกัน แม้ว่าในยุคนี้เราอาจจะมีการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งต่างคนต่างก็อยู่กันคนละสถานที่ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถอาศัยเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารกันได้อยู่ หรือจัดให้มีการเจอหน้าเจอตากันบ้าง ประชุมร่วมกันแบบ onsite บ้าง ก็จะทำให้พนักงานมีการติดต่อสื่อสารกัน มีสังคมการทำงานร่วมกัน

สิ่งที่สำคัญก็คือ การดูแลให้เกิด 3C ข้างต้นนั้น จะต้องเป็นการดูแลด้วยใจ และต้องปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่มองว่า พนักงานคือ ลูกจ้าง แล้วก็จิกหัวใช้งานกันอย่างเต็มที่โดยไม่สนใจว่า เขาจะเหนื่อยล้ามากน้อยเพียงใด

ถ้าองค์กรใดยังคงบริหารคนแบบจิกหัวใช้งาน อีกไม่นาน องค์กรนั้นก็คงจะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะพนักงานในยุคนี้ไม่เหมือนในยุคก่อน เขาไม่แคร์ คนที่ไม่แคร์เขา อีกทั้งทางเลือกในยุคนี้ก็มีมากขึ้น ทำให้เขาสามารถปรับเปลี่ยนงานได้มากกว่าเดิม ซึ่งก็จะทำให้องค์กรนั้นขาดคนเก่งในการสร้างผลงานในทันที

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: