การลาออกครั้งใหญ่ที่ใครๆ ก็มักจะพูดกันนั้น ส่วนใหญ่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลการวิจัยและการทำโพลออกมามากมายว่าอะไรคือสาเหตุของการลาออกครั้งใหญ่ในครั้งนี้กันแน่
แต่ในหลายงานวิจัย ก็อ้างว่า จะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน ผมมาดูในประเทศไทย จากผลการสำรวจ และจากลูกค้า และเพื่อนๆ ที่อยู่ในแวดวง HR ต่างก็บอกว่า มันก็เป็นปกติอยู่นะ อัตราการลาออกอยู่ในช่วงปกติที่เคยเป็น บางองค์กรบอกว่า น้อยกว่าที่เคยเป็นด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ดี เราคงจะมองข้ามเหตุการณ์เหล่านี้ไปไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้เวลาที่ต่างประเทศมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็มักจะลามมายังประเทศต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
วันนี้ก็เลยนำเอาสาเหตุที่ทำให้พนักงานลาออกครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นงานวิจัยจากทาง SHRM มาให้ดูกัน เผื่อจะเป็นข้อมูลอ้างอิงในการปรับปรุงระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรเราได้
สาเหตุที่ทำให้กลุ่มพนักงานลาออกครั้งใหญ่ประกอบไปด้วย
- อยากได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากช่วงโควิด 19 นั้น เป็นช่วงที่ทุกอย่างนิ่งสนิท จนทำให้พนักงานรู้สึกว่า เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนเองก็นิ่งสนิทเช่นกัน ก็เลยคิดว่า น่าจะมีโอกาสในบริษัทอื่น ๆ ที่ทำให้พนักงานได้รับค่าจ้างเงินเดือนที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้ ก็เลยคิดลาออกเพื่อไปหาโอกาสด้านค่าจ้างเงินเดือนที่สูงขึ้นกว่าเดิม
- อยากได้ Work-Life ที่ดีกว่าเดิม เช่นกันสาเหตุด้วยโควิด 19 ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ชินชา และบางคนรู้สึกเหนื่อยกว่าเดิม ในการใช้ชีวิตและการทำงาน ก็เลยทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนงาน เพราะมองว่า องค์กรอื่น อาจจะมีโอกาสที่ทำให้ work-life ของตนเองดีขึ้นกว่าเดิมได้
- ต้องการสวัสดิการที่ดีกว่าเดิม สาเหตุที่ 3 ก็คือ ต้องการได้สวัสดิการที่ดีกว่าเดิมที่ได้รับอยู่ ของเดิมอาจจะไม่ตรงกับสไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน และองค์กรเองก็ไม่มีระบบสวัสดิการที่ยืดหยุ่นในแบบที่พนักงานต้องการ
- ต้องการโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน พนักงานส่วนหนี่งรู้สึกว่าทำงานอยู่กับองค์กรเดิมมานานแล้ว ยิ่งเกิดโควิดอีก ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองเหมือนไม่ก้าวหน้ามากมายอย่างที่คิดไว้ ก็เลยคิดว่า ถ้ามีองค์กรอื่นมีข้อเสนอในการทำงาน และทำให้ตนเองรู้สึกว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม ก็อยากเปลี่ยนงานทันที
- ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ เช่นกัน งานเดิมที่ทำอาจจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ช่วงโควิดที่งานน้อยลง มีโอกาสอยู่บ้านทำงาน มีโอกาสนั่งคิดทบทวนอาชีพของตนเอง แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าอิ่มตัวในอาชีพนี้แล้ว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ที่อยู่ในช่วงค้นหาตัวเองอยู่ ก็เริ่มที่จะคิดเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสายอาชีพของตนเอง
เมื่อพอทราบสาเหตุแล้ว สิ่งที่องค์กรต้องทำก็คือ ปรับปรุงระบบ HR ตามสาเหตุที่พนักงานมองไว้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งใน USA จากบทความของ SHRM ระบบหลักที่องค์กรต่างให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือ
- ระบบค่าจ้างเงินเดือน และค่าตอบแทน
- ระบบสวัสดิการที่ยืดหยุ่น
- ระบบความก้าวหน้าในสายอาชีพ
ต้องลงมือปรับปรุงจริง ๆ ไม่ใช่แค่เป็นการบอกจากผู้บริหารว่าว่า เราจะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งถ้าไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เราอาจจะเกิดการลาออกครั้งใหญ่เหมือนกับต่างประเทศก็เป็นได้
ใส่ความเห็น