คำถามนี้ผู้บริหารท่านหนึ่งสอบถามมา ท่านผู้อ่านคิดว่า สามารถทำได้จริงหรือไม่ครับ คำตอบก็คือ ทำได้จริง แค่ต้องทำความยืดหยุ่นให้สอดคล้องและเหมาะสมกับงานแต่ละงานในองค์กร
เรามักจะได้ยินพนักงานบ่นให้ฟังเยอะ โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องทำงานเป็นเวลาชัดเจน เช่นในโรงงาน โรงพยาบาล หรืองานให้บริการลูกค้าที่มีเวลาเปิดปิดร้านที่ชัดเจน ฯลฯ
สิ่งที่พนักงานบ่น ก็คือ พวกงานหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็น HR บัญชี การเงิน IT ฯลฯ เขาได้ทำงานจากที่บ้านก็ได้ แต่พวกเรานี่ทำงานจากที่บ้านไม่ได้เลย แถมยังไม่เห็นจะมีอะไรที่ยืดหยุ่นตามที่นโยบายของบริษัทออกมาเลยว่า เราจะเริ่มทำงานแบบยืดหยุ่นกันแล้ว
พอได้ยินคำบ่นมาก ๆ เข้า ผู้บริหารบางคนก็ตัดสินใจ (แบบไม่เหมาะสม) ก็คือจ่ายเงินให้พนักงานกลุ่มนี้เพิ่มเติม เพื่อชดเชยความยืดหยุ่นที่ขาดไป พร้อมกับบอกว่า งานของเราต้องบริการลูกค้า ต้องผลิตสินค้า ฯลฯ ดังนั้น ต้องทำงานแบบเดิมต่อไป
แต่สุดท้ายค่าตอบแทนที่ได้ชดเชยนั้น ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะพนักงานเองก็ยังคงเห็นกลุ่มพนักงานอีกกลุ่มที่สามารถทำงานแบบยืดหยุ่นได้ ทำงานจากที่บ้านได้ เข้าบริษัทบ้าง ไม่เข้าบริษัทบ้าง ทุกคนต่างก็มองกันตาปริบๆ และก็ยังคงเรียกร้องความเท่าเทียมเรื่องการทำงานแบบยืดหยุ่น แม้ว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนไปแล้วก็ตาม
ดังนั้น การให้ค่าตอบแทนเพื่อชดเชยการทำงานแบบยืดหยุ่นในองค์กรนั้น แนะนำว่า อย่าทำเด็ดขาด เพราะจะเป็นการสร้างความรู้สึกไม่เท่าเทียมมากขึ้น และสุดท้ายพนักงานก็จะยังคงเรียกร้องอยู่ดี
สิ่งที่องค์กรควรจะทำก็คือ จะต้องออกแบบความยืดหยุ่นในการทำงานให้ได้ในทุกงาน เราสามารถทำได้ แค่เพียงจะทำได้มากหรือน้อย หรือต้องออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะของงาน
สิ่งที่สำคัญในการออกแบบการทำงานแบบยืดหยุ่นที่จะต้องยึดให้มั่นก็คือ
- งานจะต้องไม่เสีย ผลงาน ผลลัพธ์ของงาน จะต้องออกมาได้ตามเป้าหมายโดยไม่ได้รับผลกระทบมาจากการทำงานแบบยืดหยุ่น
- ลูกค้าจะต้องไม่เสีย ลูกค้าจะต้องยังคงได้รับการบริการอย่างเต็มที่ ตรงเวลา เหมือนเดิม ต้องไม่มีเหตุมาอ้างว่า พนักงานไม่สามารถให้บริการได้ เพราะตอนนี้ทำงานที่บ้าน เป็นต้น ลูกค้าไม่สนหรอกครับว่าตอนนี้พนักงานจะทำงานจากที่ไหน แต่เมื่อไหร่ลูกค้าต้องการได้รับการบริการ เขาก็ต้องได้มันจริง ๆ
- พนักงานจะต้องได้รับความยืดหยุ่นในการทำงานจริงๆ ไม่ใช่ประกาศว่าเราจะทำงานแบบยืดหยุ่น แต่เอาเข้าจริงๆ เหนื่อยกว่าเดิม เครียดกว่าเดิม เวลาหายไปมากกว่าเดิมในแต่ละวัน ฯลฯ แบบนี้ไม่ยืดหยุ่นจริง
จากนั้นเราก็สามารถออกแบบการทำงานแบบยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะกับพนักงานที่ต้องทำงานตามตารางเวลา ต้องเข้ากะ ต้องบริการลูกค้าตามช่วงเวลาการให้บริหารของบริษัท (ที่ทำงานจากที่บ้านไม่ได) โดยสามารถทำได้ดังนี้
- การสะสมเวลาทำงาน ต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือน เพื่อสามารถหยุด หรือ บริหารจัดการเวลาทำงานของตนเองได้มากขึ้นกว่าเดิม หรือ การสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนตารางเวลาทำงานได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น แต่วิธีนี้อาจจะต้องมีการสร้างพนักงานที่สามารถทำงานทดแทนได้ในทุกตำแหน่งงาน หรือทุกจุดของสายการผลิตได้
- เพิ่มสิทธิในการลาโดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Work-Life Balance ของพนักงานเป็นต้น
- การสลับกะได้ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม ให้พนักงานมีสิทธิที่จะขอสลับกะทำงานได้มากขึ้น โดยอาจจะกำหนดสิทธิว่า สามารถสลับได้อย่างไร และต้องจับคู่กับพนักงานคนไหนได้บ้าง
- เพิ่มจำนวนกะทำงานให้เหลื่อมเวลากันได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น เดิมเราอาจจะจัดแค่เพียง 2 กะ ก็อาจจะต้องเพิ่มเป็น 3-4 กะต่อวัน โดยให้มีการเหลื่อมเวลาในการเข้าออกงานได้มากขึ้นกว่าเดิม
ด้วยวิธีการข้างต้น เราก็สามารถที่จะทำให้พนักงานที่ไม่สามารถจะทำงานจากที่บ้านได้ สามารถได้รับความยืดหยุ่นจากการทำงานได้เช่นกัน สิ่งที่สำคัญก็คือ HR จะต้องให้ความรู้แก่พนักงาน และผู้บริหารว่า เรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงานนั้น ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของสถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่นเท่านั้น เราสามารถใช้ เวลาที่ยืดหยุ่น และวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่นได้อีกด้วย
ใส่ความเห็น