ปัจจุบันระบบประเมินผลงานดั้งเดิมของบริษัท ถูกเรียกใหม่ด้วยคำว่า ระบบบริหารผลงาน แต่ผู้จัดการบริษัทส่วนใหญ่ ยังคงรู้สึกแตกต่างกับการประเมินผลงานแบบเดิม และยังคงมองว่า การประเมินผลงาน ก็คือ การบริหารผลงาน แค่บริษัทเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ ก็เท่านั้น
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในประเทศไทย
จากการศึกษา HR Benchmarking ของ Think People Consulting ปี 2021 พบว่า 80% ของผู้จัดการและผู้บริหารขององค์กร ไม่ได้รู้สึกแตกต่างอะไรระหว่างคำว่า บริหารผลงาน และประเมินผลงาน มองว่า มันก็คือเหมือนเดิม แค่เป็นการเปลี่ยนชื่อไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ก็ไม่ได้รู้สึกว่า ตนเองในฐานะผู้จัดการจะต้องไปบริหารผลงานพนักงานอะไรมากมาย ยังคงทำงานกันแบบเดิมที่เคยทำ พอถึงเวลาปลายปี ก็มานั่งประเมินผลงานลูกน้องของตนเอง ด้วยระบบที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริหารผลงาน
ก็จะมีแค่เพียง 20% ของบริษัทเท่านั้น ที่เข้าใจว่าระบบบริหารผลงานนั้นแตกต่างกับระบบประเมินผลงานแบบเดิมที่บริษัทเคยใช้ และเข้าใจว่าบทบาทหน้าที่ของผู้จัดการก็คือ ต้องบริหารผลงานพนักงานทุกคนในทีมงานให้สร้างผลงานตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ให้ได้ โดยการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ มี Feedback ทั้งแง่บวกแง่ลบ ในด้านที่ต้องพัฒนาปรับปรุง อีกทั้งยังต้องพยายามสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนการทำงานของพนักงานให้สามารถที่จะสร้างผลงานที่ดีให้ได้
ไม่ใช่แค่เพียงต่างคนต่างทำงานในหน้าที่ของตนเอง แล้วพอปลายปีก็มาประเมินผลงานกัน แบบนี้คงจะเรียกว่า ระบบบริหารผลงานไม่ได้
จากข้อมูลข้างต้น ก็เลยทำให้ HR จะต้องตระหนักว่า องค์กรของเรานั้น ใช้ระบบบริหารผลงานกันอย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของระบบแล้วหรือยัง เพราะการที่เราไม่ใช้ระบบอย่างถูกต้องนั้น จะส่งผลต่อการสร้างผลงานของพนักงานในองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ดังนั้น
- อย่าใช้ระบบบริหารผลงาน แทน ระบบประเมินผลงาน เพียงเพราะต้องการจะเปลี่ยนชื่อเรียกเท่านั้น
- อย่าใช้ Application บริหารผลงาน เพียงเพื่อจะบอกว่า เรามีเครื่องมือที่ดีในการบริหารผลงาน แต่สุดท้ายเราก็แค่เพียงเปลี่ยนจากกระดาษสู่โปรแกรมแค่นั้น
- อย่าลืมทำความเข้าใจระบบบริหารผลงาน โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงสุด จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามันคืออะไรกันแน่ และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารผลงานพนักงานของตนเอง เพื่อให้ผู้จัดการทุกระดับปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องเช่นกัน
ระบบบริหารผลงาน มีขึ้นเพื่อที่จะผลักดันเป้าหมายความสำเร็จขององค์กร โดยผ่านความสำเร็จของพนักงานในแต่ละระดับ และมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของพนักงาน เพื่อทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยที่ผู้จัดการโดยตรงของพนักงานต้องเป็นคนขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ และสุดท้าย ถ้าทุกอย่างลงตัวตามระบบบริหารผลงานจริง ๆ เราก็จะสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้ ไปเชื่อมโยงกับระบบการให้รางวัลผลงานของพนักงานได้อย่างเป็นธรรมด้วยเช่นกัน
ใส่ความเห็น