เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับการแชร์ เอกสารฉบับหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในกลุ่ม Line open chat ที่ผมเปิดไว้สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้าน HR กับท่านที่ทำงานด้านนี้ และผู้สนใจ ซึ่งสิ่งที่ได้รับการแชร์มานั้น เป็นแบบฟอร์มฉบับหนึ่ง ที่เขียนหัวข้อไว้ว่า แบบประเมินเพื่อการเลื่อนตำแหน่ง
พอได้อ่านดูในรายละเอียดของแบบฟอร์มนี้ ผมค่อนข้างตกใจเหมือนกัน เพราะเป็นแบบฟอร์มที่แชร์มาในลักษณะที่เป็นแบบฟอร์มเปล่า โดยไม่มีคำอธิบายในวิธีการใช้งาน และรายละเอียดอื่น ๆ เลย ซึ่งผมนั่งอ่านดูแล้ว ถ้ามีคนอ่าน แล้วไม่พิจารณาให้ดี ก็จะเป็นเหตุให้นำไปใช้ในทางที่ผิดได้อย่างมาก
ตัวแบบฟอร์ม หน้าตาจะเป็นเหมือนแบบฟอร์มการประเมินผลงานเลย คือ มีปัจจัยที่ประเมิน และมีคะแนนให้ใส่ ว่าในแต่ละปัจจัยนั้นพนักงานที่ถูกประเมินเพื่อการเลื่อนตำแหน่งนั้น จะได้คะแนนเท่าไหร่ หัวข้อที่ปรากฏในแบบฟอร์ม เช่น ความรอบรู้ในงาน การวางแผนงาน การมอบหมายและติดตามงาน ฯลฯ
จากนั้นก็มีการรวมคะแนน และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อดูว่า พนักงานคนนี้จะผ่านเกณฑ์ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือไม่
ถ้ามองกันแค่นี้ ผมกลัวว่า คนที่ได้รับเอกสารฉบับนี้ไป แล้วไม่พิจารณาให้ดีถึงที่มาที่ไป ก็จะนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ คือ นำไปใช้พร้อมกับการประเมินผลประจำปี โดยที่ผู้จัดการฝ่ายที่ต้องประเมินผลงานลูกน้อง จะได้รับแบบประเมิน 2 ชุด ก็คือ ชุดแรกเป็นแบบประเมินผลงานประจำปี และอีกชุดหนึ่งก็คือ แบบประเมินเพื่อการเลื่อนตำแหน่ง จากนั้นก็ประเมินไปตามเกณฑ์ คำถามก็คือ ถ้าทั้งสองแบบฟอร์ม ผู้จัดการประเมินพนักงานของตนเองว่ามีผลงานที่ดี และพร้อมสำหรับการเลื่อนตำแหน่งทุกคน แล้วเราจะทำอย่างไร
อีกอย่างก็คือ การเลื่อนตำแหน่งนั้น จู่ ๆ เราจะมานั่งประเมินพนักงานว่าพร้อมหรือไม่พร้อม โดยที่ไม่มีการวางแผน และพัฒนาพนักงานคนนั้นกันล่วงหน้าคงจะเป็นไปไม่ได้
แบบว่า ปีนี้ HR แจ้งมาว่า “ฝ่ายพี่จะเสนอใครเลื่อนตำแหน่งบ้าง” แล้วผู้จัดการฝ่าย ก็นั่งพิจารณาพนักงานของตัวเองไปทีละคน ว่าจะเสนอใครดี แบบนี้ ไม่มีใครเขาทำกันแล้ว หรือถ้ามี ก็ถือว่าไม่มีการเตรียมความพร้อมกันก่อนล่วงหน้าเลย แบบนี้เสี่ยงมากครับ
ดังนั้นก่อนที่จะใช้แบบฟอร์มประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่ง (ถ้าอยากใช้จริงๆ) เราต้องมีการวางแผนเพื่อการพัฒนาพนักงานแต่ละคนล่วงหน้ากันก่อน นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า Career Development Plan
มีการวางแผนร่วมกับพนักงานว่า อยากเติบโตในเส้นทางอาชีพใด และจะใช้เวลาเท่าไหร่ ในการเลื่อนระดับ หรือเลื่อนตำแหน่ง แล้วก็มากำหนดแผนในการพัฒนากันในแต่ละปี ตามเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งที่กำหนดไว้ ดังนั้น เราต้องมีเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งอย่างชัดเจนก่อน เช่น ต้องผ่านการอบรมอะไร ต้องเคยลงมือทำงานอะไรมาแล้วบ้าง หรือต้องเคยหมุนเวียนเปลี่ยนงานไปในงานใดบ้าง ฯลฯ รวมทั้งการพัฒนา competency ที่สำคัญ ๆ ว่าต้องมีอะไรบ้าง
จากนั้นก็นำมากำหนดเป็นแผนการพัฒนาพนักงานรายบุคคลกันเลย ว่าในแต่ละปี เพื่อการเติบโตของพนักงานตามสายอาชีพ พนักงานแต่ละคนจะต้องได้รับการพัฒนาอะไรบ้าง
แล้วค่อยมาใช้แบบฟอร์มในการประเมินเพื่อการเลื่อนตำแหน่งอีกครั้งในช่วงเวลาที่จะพิจารณาการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเอาจริง ๆ แบบฟอร์มนี้ต้องถูกออกแบบ โดยอาศัยเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าเกณฑ์ตามปัจจัยประเมินผลงาน เพื่อพิจารณาความพร้อมของพนักงานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
เราก็จะได้พนักงานที่พร้อมที่จะรับผิดชอบในงานที่ยากขึ้น สูงขึ้นได้
ไม่ใช่เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น แต่กลับทำงานอะไรในตำแหน่งที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้เลย แบบนี้องค์กรก็ไม่ได้มูลค่าเพิ่มใด ๆ จากการเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานเลย
ใส่ความเห็น