ผู้จัดการ กับ การสร้างสุขภาพจิตที่ดีในการทำงานของพนักงาน

“แค่งานก็ยุ่งพออยู่แล้ว นี่ยังต้องมาดูแลกันถึงสุขภาพจิตของพนักงานกันเลยหรือ?” นี่คือคำพูดของผู้จัดการท่านหนึ่งที่เกิดข้อสงสัยเมื่อได้ยินว่า ในยุคนี้ ผู้จัดการที่ดีจะต้องดูแลสุขภาพจิตของพนักงานในการทำงานด้วย

ในยุคที่ธุรกิจต่างแข่งขันกันอย่างถึงพริกถึงขิง พนักงานที่ทำงานก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องสร้างผลงานเพื่อให้ธุรกิจที่ตนเองทำงานอยู่ สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยสภาพแวดล้อมของการทำงานที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยจะได้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้เราเหมือนถูกติดตามตัวตลอดเวลา ก็ยิ่งทำให้ความเครียดของคนทำงานเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น นอกจากสุขภาพกายที่องค์กรต่าง ๆ ดูแลพนักงานในระบบสวัสดิการของบริษัท ปัจจุบันก็ต้องดูแลกันไปถึงสุขภาพจิตของพนักงานด้วย แนวโน้มของสวัสดิการทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเอง ก็เริ่มที่จะหันมาใส่ใจ และเอาใจใส่ในประเด็นสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้น ดังที่เราจะเห็นจากการจัดสวัสดิการขององค์กรขนาดใหญ่ และกลาง ที่เริ่มมีการส่งเสริมให้พนักงานมีความยืดหยุ่นในการทำงาน มีการสนับสนุนให้พนักงานพูดคุยกับจิตแพทย์ได้มากขึ้น เวลาที่เกิดความเครียดในการทำงานขึ้น

แค่สวัสดิการคงไม่เพียงพอ การที่พนักงานคนหนึ่งจะมีสุขภาพจิตที่ดีในการทำงานนั้น ผู้จัดการของเขา จะต้องเข้าใจ และดูแลเรื่องสุขภาพจิตของผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาด้วยเช่นกัน แนวทางในการดูแลสุขภาพจิตที่ผู้จัดการจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก็คือ

  • หันมาใส่ใจพนักงานมากขึ้น ใส่ใจในที่นี้ก็คือ ต้องแสดงออกถึงความเข้าใจ และความใส่ใจในชีวิตและความเป็นอยู่ทั้งทางด้านกาย และใจของพนักงานมากขึ้น ไม่ใช่สั่งแต่งาน งาน และงาน แต่ไม่เคยรู้ว่าพนักงานแต่ละคนนั้นเครียดหรือไม่ มีอุปสรรคอะไรในการทำงาน เหนื่อยล้ามากน้อยแค่ไหน
  • กระตุ้นส่งเสริมให้พนักงานได้พักบ้าง ถ้าผู้จัดการเห็นพนักงานทำงานหนัก ต่อเนื่อง และมีแววว่าจะเกิดอาการ Burnout ได้มาก ก็คงต้องส่งเสริมให้พนักงานคนนั้นได้หยุดพักจากการทำงานบ้าง เรามักจะเห็นผู้จัดการบางคนที่แจ้งกับพนักงานที่ทำงานติดต่อกันนาน ๆ ว่า ไปเที่ยวบ้าง หยุดพักบ้าง และระหว่างเวลาที่พนักงานหยุดพักผ่อน ผู้จัดการเองก็ต้องไม่ไปกวนเวลาพักของพนักงานโดยไม่จำเป็นด้วยเช่นกัน คือ ให้พนักงานมีโอกาสพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องงานระหว่างการพักผ่อน ในเมืองไทย เรามักจะเห็นสิ่งที่เป็นตรงกันข้าม ก็คือ ผู้จัดการมักจะไม่ค่อยอนุมัติให้พนักงานลาพักผ่อน เพราะบอกว่างานเยอะ จะลาไปทำไม สุดท้ายพนักงานก็เหนื่อย เครียด และหมดแรงในการทำงาน ยิ่งส่งผลลบต่อผลงานของพนักงานมากขึ้น
  • คอยดูแลปริมาณงานของพนักงานแต่ละคน ประเด็นนี้สำคัญ ผู้จัดการหลายคนที่ไม่เคยพิจารณาปริมาณงานในมือของพนักงานแต่ละคนเลย มีแต่สั่งเพิ่ม ไปเรื่อย ๆ พนักงานแต่ละคนถ้าทำงานกันอย่างเต็มที่จริง ๆ เวลางานปกติ ก็มีอยู่ 8 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้จัดการมอบหมายงานมากมายจนเกินความสามารถของพนักงานในการรับมือได้ ก็จะเกิดความเครียดในการทำงานมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว ก็คงต้องไม่ลืมคอยดูปริมาณงานในมือของพนักงานในแต่ละช่วงเวลาด้วย และกระจายงานให้พนักงานในทีมแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน
  • ริเริ่มและส่งเสริมการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การทำงานจากที่บ้านบ้าง หรือเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้พนักงานมีเวลาในการดูแลตัวเอง และครอบครัวได้บ้าง ซึ่งความยืดหยุ่นในการทำงาน ก็เริ่มเป็นที่ให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโควิด เข้ามา จนผู้บริหารต้องปรับตัวตาม ดังนั้นยุคนี้ การที่พนักงานได้ทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นก็จะช่วยลดความเครียด และความเหนื่อยล้าของการทำงานลงได้ลบ้าง

นี่ก็คือ 4 ประการที่ผู้จัดการยุคนี้คงต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานให้ดีด้วย แต่เชื่อมั้ยครับ ว่าผลการสำรวจความคิดเห็นพนักงานในองค์กรในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ยังมีพนักงานที่ตอบว่า ผู้จัดการของเขาไม่เคยทำอะไรที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้พนักงานเลย มีแต่พฤติกรรมที่ทำให้สุขภาพจิตของพนักงานแย่ลงไปอีก

ก็หวังว่าองค์กรของท่านจะไม่มีเหตุการณ์อย่างที่ว่ามานะครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: