HRBP วางตำแหน่งผิด ชีวิตเปลี่ยนทันที (ตอนที่ 2)

จากบทความ “HRBP วางตำแหน่งผิด ชีวิตเปลี่ยนทันที ตอนที่ 1” ทำให้เราได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตำแหน่งนี้ และได้ทราบว่า หน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ๆ ของตำแหน่งนี้มีอะไรบ้าง ตอนที่ 2 นี้จะมาต่อในเรื่องของบทบาทหน้าที่ที่ HRBP จะต้องทำในการเป็นคู่คิดเชิงธุรกิจให้กับผู้บริหารขององค์กรว่ามีอะไรบ้าง

จากหน้าที่และความรับผิดชอบ ของ HRBP ในตอนที่แล้ว น่าจะทำให้เราเห็นถึงคุณสมบัติของคนที่จะมาทำงานในตำแหน่ง HRBP ว่า จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านธุรกิจ เข้าใจแผนธุรกิจ และการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ และที่สำคัญจะต้องรู้ระบบขั้นตอน และแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลทุกระบบตั้งแต่การวางแผนอัตรากำลังคน การสรรหาคัดเลือก การพัฒนาพนักงาน การบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ การบริหารผลงาน การบริหารความก้าวหน้าในสายอาชีพ ไปจนถึง การเกษียณอายุพนักงานเลยทีเดียว

เมื่อเราทราบแบบนี้แล้ว ทำไมเรายังไปมอบหมายงาน HRBP ให้กับเด็กจบใหม่ทำหน้าที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า เด็กจบใหม่ไม่เก่ง แต่ด้วยประสบการณ์และมุมมองทางธุรกิจ ยังไม่มากพอที่จะเป็น Business Partner ได้มากกว่า

นอกจากหน้าที่และความรับผิดชอบที่ระบุไปคร่าว ๆ ข้างต้นแล้ว HRBP ยังต้องมีบทบาทสำคัญดังต่อไปนี้อีกด้วย

  • คนที่ทำหน้าที่ในตำแหน่ง HR Business Partner จะต้องทำงานร่วมกับผู้จัดการสายงาน และผู้บริหารขององค์กร รวมถึงกลุ่มพนักงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยสร้างความสามารถของทรัพยากรบุคคลในองค์กร ช่วยผู้บริหารในการวางแผนกลยุทธ์ วางแผนการปฏิบัติการในเรื่องของการบริหารคนในองค์กร เพื่อให้คนในองค์กรสามารถที่จะสร้างผลงานได้อย่างดี รวมทั้งมีขวัญและกำลังใจในการทำงานกับองค์กรต่อไปในระยะยาว
  • HRBP จะต้องช่วยขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ขององค์กรในมุมของการบริหารคนให้ได้ เช่น ถ้าธุรกิจบอกว่า ปีนี้จะต้องเน้นไปที่การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า HRBP ก็จะต้องวางกลยุทธ์และแผนงานในด้านต่างๆ ของการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งสร้างกิจกรรมต่างๆ ในองค์กรเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้คนทุกระดับในองค์กรมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ที่ว่านี้ให้ประสบผลสำเร็จให้ได้
  • HRBP จะต้องมีทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี จะต้องเป็นผู้ที่ประสานและสร้างสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานกับผู้จัดการทุกระดับ และกับทีมงาน และพนักงานทุกคนในองค์กรให้ได้ เพราะเขาเป็นคนที่ต้องสร้างกิจกรรม และขอความร่วมมือจากผู้จัดการ และผู้บริหารทุกคนในองค์กร ในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของตนเองภายใต้แนวทางที่กำหนดไว้ เพื่อให้กลยุทธ์ขององค์กรประสบความสำเร็จให้ได้
  • นอกจากนี้ HRBP ยังต้องเป็นคนที่มีความสามารถเชิงวิเคราะห์ข้อมูลในการบริหารคนขององค์กรด้วย สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของพนักงานที่เกิดขึ้นในการทำงานประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการมาทำงาน การขาดลา มาสาย การขาดงาน การลาป่วย ข้อมูลการสรรหา คัดเลือก การพัฒนา ฯลฯ สามารถวิเคราะห์ และพยากรณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในการบริหารจัดการคนขององค์กรได้อย่างแม่นยำจากข้อมูลที่ได้มา ซึ่งสามารถวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างดี

เมื่อเห็นหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมถึงบทบาทในการทำงานแล้ว เราพอจะวิเคราะห์คุณสมบัติขั้นต่ำของตำแหน่ง HRBP ออกกันมั้ยครับว่าต้องใช้คนที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ทั้งในการบริหารธุรกิจ และในการบริหารทรัพยากรบุคคล อีกทั้งยังต้องมีทักษะในเชิงวิเคราะห์ ออกแบบ Design Thinking การสื่อความ การนำเสนองาน การเจรจาต่อรอง โน้มน้าวผู้อื่น ฯลฯ อีกมากมาย

เมื่อทราบแบบนี้แล้ว เราคงต้องปรับบทบาทหน้าที่ของ HRBP ในองค์กรของเราเสียใหม่ ให้สะท้อนคำว่า Business Partner จริงๆ ไม่ใช่สนับสนุนงาน Admin ให้กับผู้บริหารสายงานธุรกิจต่าง ๆ

นี่แหละครับ วางตำแหน่ง HRBP ผิด ชีวิตเปลี่ยนทันที

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: