ชื่อตำแหน่ง HRBP-Human Resource Business Partner เป็นตำแหน่งที่สร้างปัญหาให้กับหลายองค์กรในยุคนี้ค่อนข้างจะมาก สำหรับองค์กรที่ยังเข้าใจผิดกับคำว่า HRBP
มีอยู่หลายองค์กร ที่เปลี่ยนชื่อตำแหน่งงานบริหารบุคคลของตนเอง ให้เป็น HRBP ก็มีเยอะ หรือไม่ก็มีการกำหนดว่า HRBP ก็คือ คนที่จะไปช่วยบริษัทลูกในการบริหารจัดการเรื่องทรัพยากรบุคคล หรือ พนักงานที่เข้าไปสนับสนุนงานบุคคลของแต่ละ BU (Business Unit)
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ผิดอะไร แต่….
ปัญหาก็คือ การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ กับคุณสมบัติของ คนที่จะมาเป็น HRBP นั้น มันไปกันคนละทาง
ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏบัติที่หลายองค์กรประสบอยู่ก็คือ
- HRBP ที่ส่งไปช่วยธุรกิจย่อยต่าง ๆ ของบริษัท ไม่สามารถเป็นคู่คิดในเรื่องของการบริหารคนได้ เนื่องจากเอาเด็กจบใหม่มาเป็น HRBP ซึ่งทำให้ผู้บริหารสายงานธุรกิจนั้นบ่นยิบเลยว่า ส่งใครมา ส่งมาแบบนี้ไม่ต้องส่งมายังจะดีกว่า เพราะไม่มีความเข้าใจคำว่า บริหารธุรกิจเลยสักนิด แล้วจะมาเป็นคู่คิดให้เขาได้อย่างไร
- ผู้บริหารสายงานธุรกิจ ใช้ HRBP ในเรื่องของงานเอกสารต่าง ๆ ใช้ทำอะไรในเชิง Admin เยอะมาก กลายเป็น เจ้าหน้าที่ธุรการมากกว่าที่จะเป็น HRBP
พอเป็นแบบนี้ คำว่า HRBP ยิ่งถูกเข้าใจผิดหนักขึ้นไปอีก เหมือนกับว่า HR หาชื่อตำแหน่งที่ดูโก้หรูเข้ามาใช้ โดยที่งานไม่เห็นจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรใด ๆ ไม่เห็นจะสามารถเป็น Business Partner ได้เลยสักนิด
ดังนั้น ใครที่จะมีตำแหน่ง HRBP ในองค์กร ต้องกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบให้ดีก่อน และกำหนดคุณสมบัติของตำแหน่งงานนี้ให้ชัดเจนว่า จะต้องมีความรู้อะไรบ้าง ทักษะด้านไหน และต้องรู้ในเชิงบริหารธุรกิจอย่างไร
แต่ที่แน่ ๆ ตำแหน่ง HRBP ไม่เหมาะกับพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่อย่างแน่นอน
ผมขออ้างอิงหน้าที่และความรับผิดชอบของ HRBP จาก CIPD ซี่งเป็นเว็บไซต์ของสถาบันทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลกลางของประเทศอังกฤษ ได้รวบรวมหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ๆ ของ HRBP ไว้ดังต่อไปนี้
- พบปะ พูดคุย และประสานงาน กับผู้บริหาร ผู้จัดการ พนักงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องในองค์กร เพื่อรับทราบและรับรู้ข้อมูล และความต้องการ เกี่ยวกับปัญหา และความท้าทายในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่เกิดขึ้นในองค์กร
- ให้คำแนะนำเชิงปฏิบัติการได้จริง ในเรื่องของการบริหารคน และปรับโครงสร้างการบริหารคนขององค์กร รวมถึงการวางระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ขององค์กร
- เอาความรู้ความสามารถของทรัพยากรบุคคลขององค์กรที่มีอยู่ออกมาให้ได้ รวมทั้งวางแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาทางด้านการพัฒนาความรู้ ทักษะและความสามารถของคนในองค์กร เพื่อช่วยผลักดันให้ธุรกิจดำเนินการได้ตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ในแต่ละช่วงเวลาได้
- สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลต่างๆ ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ ผู้จัดการ พนักงาน ฯลฯ ให้ประสานทำงานกันอย่างราบรื่น
- เป็นจุดศูนย์กลางของการบริหารจัดการคนในองค์กร เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล พยากรณ์แนวโน้มในการบริหารคน ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัด ปัญหาในการบริหารคนในองค์กร และวางแนวทาง ระบบงานใหม่ๆ ในการบริหารคนเพื่อทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลขององค์กรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้
- ตั้งคำถาม และประเด็นของความท้าทายใหม่ๆ ในการบริหารคนให้กับผู้บริหาร และผู้นำขององค์กร เพื่อให้มองเห็นฐานรากของการบริหารคนในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งวางแนวทางในการพัฒนาผู้บริหารในเรื่องมุมมองของการบริหารคนในองค์กร
ใครอ่านแล้วจะเอาไปปรับ JD ที่บริษัทก็ได้นะครับ
ตอนต่อไปจะมาคุยกันในบทบาทของคนที่เป็น HRBP ว่าจะมีบทบาทอย่างไร และต้องใช้คนที่มีคุณสมบัติอย่างไร อย่าลืมติดตามกันนะครับ
ใส่ความเห็น