ปัญหาเรื่องการลาออกของพนักงานที่บางองค์กรอยู่ในระดับสูง ทั้ง ๆ ที่ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ดูเหมือนจะมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน เนื่องจากภัยโควิด 19 แต่ใครจะรู้ว่า ในตลาดก็ยังมีองค์กรที่ยังเติบโตได้ และยังต้องการอัตรากำลังคนเพิ่มอย่างมาก
สาเหตุหลักของการลาออกของพนักงานในช่วงโควิด19 ประมาณเกือบสองปีที่ผ่านมานั้น ถ้าเราตัดประเด็นเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงาน ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน และสาเหตุจากหัวหน้า ออกไปทั้งหมด ก็จะเหลือสาเหตุหลักอยู่ 2 สาเหตุก็คือ
- การจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ จากผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนของทาง Think People Consulting ในปี 2020-2021 มีองค์กรที่ไม่มีปัญหาจากโควิด19 อยู่กว่า 50% บางองค์กรธุรกิจดีขึ้นด้วยซ้ำไป จนทำให้ต้องมีการขยายอัตรากำลังคนมากขึ้น ต้องการพนักงานเข้ามาร่วมงานมากขึ้น แม้ว่าภาพรวมอาจจะดูเหมือนไม่ดี แต่ก็ยังมีองค์กรที่ไม่ค่อยประสบกับปัญหามากนักอยู่เหมือนกัน องค์กรเหล่านี้ ก็อาศัยช่วงจังหวะที่บางองค์กรลดค่าจ้างเงินเดือนพนักงานลง และมีการเลิกจ้างพนักงาน หรือมีการปิดกิจการไปนั้น ในการหาพนักงานมือดี ๆ เข้ามาร่วมงานด้วย โดยเสนออัตราค่าจ้างเงินเดือนที่อยู่ในอัตราที่แข่งขันได้กับตลาด บางแห่ง ก็ให้ในอัตราที่สูงกว่าตลาด ก็เลยทำพนักงานที่มีความสนใจ หรือบางคนที่ถูกลดเงินเดือนนั้น สนใจที่จะเปลี่ยนงาน หาโอกาสที่จะเพิ่มอัตราเงินเดือนของตนเองให้สูงขึ้นได้ ก็เลยเกิดการลาออกของคนเก่ง ๆ ในองค์กร เพื่อไปหานายจ้างที่สามารถจ่ายเขาได้ในอัตราที่ยังแข่งขันได้อยู่
- ความก้าวหน้าในสายอาชีพ สาเหตุที่สองที่เกิดการลาออกในช่วงนี้ ก็คือ พนักงานรู้สึกว่า ทำงานที่นี่ไม่เติบโตไปไหน ยิ่งในช่วงโควิด19 หลายองค์กรนอกจากปลดพนักงานออกแล้ว ยังไม่มีนโยบายเพิ่มพนักงานด้วย อีกทั้งยังมีนโยบายหยุดการเลื่อนตำแหน่งไว้ก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพื่อที่จะควบคุมต้นทุนด้านค่าจ้างเงินเดือนพนักงานในต่ำที่สุด บางองค์กรใช้ช่วงเวลานี้ทำการปรับปรุงโครงสร้างผังองค์กรใหม่ ให้แบบราบมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมเวลาที่กลับสู่ภาวะปกติแล้ว องค์กรจะได้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ก็คือ ลดความอุ้ยอ้ายขององค์กรลง ก็เลยเป็นผลทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่า ระดับชั้นขององค์กรมันลดลงไปเยอะ เหลืออยู่แค่ 2-4 ชั้นก็เป็น CEO แล้ว ก็เลยเกิดความรู้สึกว่า ถ้าทำงานอยู่ที่นี่ก็คงจะมีโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งน้อยลง ความก้าวหน้าของหน้าที่การงานก็ไม่น่าจะโตไปได้ไกลมากมายอะไร สุดท้ายก็เลยลาออกดีกว่า ไปหาโอกาสก้าวหน้าในองค์กรอื่น
จะบอกว่า เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนนั้น ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการลาออกของพนักงาน ก็คงจะไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มนุษย์เงินเดือนในยุคนี้ล้วนต้องการความมั่นคงทางการเงิน และต้องการความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับตลาด อีกทั้งตลาดเองก็มีการชิงตัวคนเก่ง ๆ กันมากขึ้น เนื่องจากมีจำนวนไม่มากนัก ก็เลยทำให้เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนกลายเป็นปัจจัยหลัก แม้ว่าตัวมันเองจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต แต่สุดท้ายก็ยังเป็นปัจจัยที่ผู้สมัครงาน และคนทำงานใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจอยู่ต่อ หรือเปลี่ยนงาน อยู่ดี
อีกเรื่องก็คือเรื่องของความก้าวหน้าในการทำงาน ซึ่งพนักงานที่ทำงานในองค์กร ล้วนต้องการความก้าวหน้าในการทำงานทั้งสิ้น และตัวชี้วัดความก้าวหน้าที่เห็นชัด ๆ ก็คือ การเลื่อนตำแหน่ง ดังนั้น พนักงานก็เลยมองระดับงานในองค์กรว่า จะมีโอกาสในการได้รับความก้าวหน้าสักกี่ระดับถ้าทำงานที่นี่ ดังนั้น การออกแบบระดับงาน และโครงสร้างองค์กร ก็ควรจะคำนึงถึงมุมมองของพนักงานในเรื่องความก้าวหน้าในสายอาชีพด้วย เพราะเป็นอีกหนี่งสาเหตุที่เราอาจจะสูญเสียคนเก่งของเราได้เช่นกัน
ใส่ความเห็น