โควิด 19 คงอีกนานกว่าที่จะหายไป หรือกลับสู่ภาวะปกติ หรืออาจจะต้องอยู่ร่วมกันไปแบบระมัดระวัง แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ พนักงานในองค์กรของเรามีความสุขในการทำงาน และในการอยู่กับองค์กรมากน้อยแค่ไหน เราเคยประเมินในเรื่องนี้หรือไม่
หลายคนก็บอกว่า ช่วงนี้ถ้ายังมีงานให้ทำ มีเงินเดือนให้ใช้อยู่ทุกเดือน ก็ถือว่ามีความสุขแล้ว บางคนก็บอกว่า พนักงานทำงานจากที่บ้าน ก็น่าจะมีความสุขมากกว่าเข้าบริษัทนะ หรือบางคนก็มองตรงกันข้ามว่า ช่วงโควิดนี้เป็นช่วงแห่งความทุกข์ในการทำงานเลยก็ว่าได้ ทุกอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ กลัวและกังวลไปหมดทุกเรื่อง ฯลฯ
อยากให้ผู้บริหารองค์กรลองพิจารณา ประเมิน และถามตัวเองว่า “ทุกวันนี้ท่านทราบหรือไม่ว่า พนักงานของท่านมีความสุขในการทำงานสักแค่ไหน” ผู้บริหารบางส่วนอาจจะตอบว่า พนักงานของเขามีความสุขในการทำงานมาก มีบางส่วนที่ทำหน้างงๆ และสงสัยว่าพนักงานของตนมีความสุขสักแค่ไหนในการทำงาน แล้วบริษัทของท่านเองล่ะครับ พนักงานมีความสุขในการทำงานมากน้อยแค่ไหน
การวัดว่าพนักงานมีความสุขในการทำงานมากน้อยเพียงใดนั้น เราวัดจากอะไรได้บ้าง ขออ้างอิงงานวิจัยจาก บริษัท Gallup ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และมีชื่อเสียงในเรื่องของการสร้างความผูกพันพนักงาน (Employee Engagement) ได้ศึกษาและวิจัยออกมาว่ามีตัวชี้วัดถึงความสุขของพนักงานของเราอยู่ 4 ตัว ดังนี้
- Higher Customer Loyalty อัตราความพึงพอใจ และความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อบริษัทอยู่ในอัตราที่สูง กล่าวคือ ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในบริษัทมาก ไม่จากไปไหนง่ายๆ แถมยังพยายามแนะนำลูกค้าคนอื่นให้มาใช้บริการของบริษัทเราอีกด้วย
- Higher Productivity องค์กรมีผลงาน และมีผลผลิตที่สูงขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะกำหนดเป้าหมายในการทำงานสูงขึ้นสักเพียงใด แต่พนักงานก็ยังช่วยกันทำจนองค์กรมีผลงานที่ดีขึ้นอยู่เสมอ
- Lower Rate of Turnover มีอัตราการลาออกแบบสมัครใจที่ต่ำกว่าองค์กรอื่นในธุรกิจเดียวกัน
- Higher Profit มีผลกำไรที่สูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง
ตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัวนี้ ถ้าดีทุกปี และดีอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าพนักงานที่ทำงานในองค์กรของเรานั้นมีความสุขในการทำงาน เพราะพนักงานที่มีความสุขในการทำงานจะส่งต่อความสุขให้กับลูกค้า และเพื่อนร่วมงานของตนเอง และทำให้ผลงานของตนเองดีขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งจะส่งผลต่อผลงานของบริษัทด้วย
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ใครที่เป็นคนรับผิดชอบในการเพิ่มความสุขให้พนักงาน
ผู้บริหารระดับสูงมักจะตอบว่า ก็ฝ่ายบุคคลไง ที่จะต้องหาวิธีการในการสร้างความสุขให้กับพนักงาน ต้องเสนอว่าจะมีวิธีในการทำงานอย่างไรให้มีความสุข แล้วก็เอามานำเสนอผู้บริหารสิ
พอไปถามฝ่ายบุคคล เขาก็จะตอบว่า ก็ต้องให้ผู้จัดการทุกคนรู้วิธีการสร้างความสุขให้กับลูกน้องของตนเอง เพราะเขารู้จักลูกน้องตัวเองดีที่สุด อีกทั้งเวลาที่ HR เสนอให้ดำเนินการบางอย่างเพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน ก็อยากจะให้ผู้จัดการทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน
พอไปสอบถามผู้จัดการด้วยคำถามเดียวกัน เขาก็ตอบว่า ต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องเริ่มต้นก่อน เพราะถ้าผู้บริหารระดับสูงมัวแต่เน้นเรื่องของผลงานมากเกินไป พนักงานก็ไม่มีความสุข
ตกลงว่าใครที่ตอบถูกที่สุดครับ??
ถ้าเราอยากให้พนักงานทุกคนมีความสุขในการทำงาน ทุกคนในองค์กรนั่นแหละครับ ที่จะต้องช่วยกันทำ ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงก่อนเลย เพราะนี่คือจุดสำคัญมาก ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเป็นผู้ที่กำหนดแนวนโยบายทั้งหมดของบริษัทว่าต้องการให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขหรือไม่ หรือเห็นความสำคัญของการดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็ส่งต่อวิธีการสร้างความสุขเหล่านั้นลงมาที่ผู้บริหารและผู้จัดการระดับรองลงมาเรื่อย ๆ จนถึงพนักงาน โดยที่ฝ่ายบุคคลอาจจะเป็นผู้ร่วมนำเสนอแนวทาง และช่วยกระตุ้น ผลักดัน รวมทั้งสร้างแนวทางในการนำเอาแนวทางปฏิบัติที่ดีๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริงในการทำงาน
อย่ามัวแต่โยนไปโยนมาเลยครับ ถ้าเราอยากให้พนักงานมีความสุขในการทำงานจริงๆ ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหาร ผู้จัดการ และพนักงานทุกคนในองค์กร ที่จะสร้างบรรยากาศในการทำงานที่มีแต่ความสุขให้กับพนักงานนั่นเองครับ
ใส่ความเห็น