เวลาที่พูดถึงการวางแผนพัฒนาพนักงานรายบุคคล หรือ IDP นั้น เป็นสิ่งที่ผู้จัดการหลาย ๆ คนต้องคิดหนักอยู่เหมือนกันว่า ลูกน้องของตนเองแต่ละคนจะต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องอะไรบ้าง เครื่องมือที่ฝ่ายบุคคลในหลาย ๆ องค์กรพยายามสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้จัดการสามารถที่จะมอง และประเมินพนักงานตนเองได้ ก็คือ Competency ต่าง ๆ ที่เราเอามาใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคล แต่ถึงแม้ว่าเราจะมี competency ที่ชัดเจน แต่ก็ยังมีปัญหาว่า ผู้จัดการบางคน ก็ยังไม่รู้ว่าลูกน้องตนเองจะต้องพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง
แน่นอนว่า ระบบ Competency แม้ว่าจะเป็นระบบที่ดี มีเหตุมีผล ดูแล้วน่าจะสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการคนในองค์กรได้อย่างดี แต่พอถึงเวลาใช้งานจริง กลับกลายเป็นว่า เป็นภาระของผู้จัดการสายงานอย่างมาก อีกทั้งบางแห่งก็เขียนนิยามออกมาแล้วเข้าใจยากมาก หรืออาจจะเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างผู้จัดการแต่ละคน ก็เลยทำให้เกิดความสับสนกันมากขึ้นไปอีก พอมีปัญหาในการใช้งานมากขึ้น ก็เลยไม่ใช้มันเสียเลย
ปัญหาก็เลยเกิดขึ้นตามมาในเรื่องของการวางแผนพัฒนาพนักงานรายบุคคลว่า พนักงานแต่ละคนจะต้องได้รับการพัฒนาอะไรบ้าง วางแผนไม่ออก ไม่รู้ว่า พนักงานขาดอะไร ทั้งๆ ที่ผู้จัดการบางคนต้องการพัฒนาลูกน้องตัวเองจริงๆ แต่กลับรู้สึกว่ำทำไมมันยากจัง
วิธีการแก้ไขปัญหานี้ เราสามารถให้ผู้จัดการใช้จินตนาการ วาดภาพของพนักงานแต่ละคนในการทำงาน ว่าอยากเห็นภาพว่า พนักงานแต่ละคนสามารถทำงานของตนเองได้อย่างไรบ้าง อยากเห็นภาพว่าพนักงานแต่ละคนทำงานได้ดีอย่างไร แสดงออกมาอย่างไรบ้าง ฯลฯ สร้างภาพในใจของตนเองขึ้นมาให้ได้
เช่น จินตนาการว่า พนักงานของตนเองสามารถที่จะเดินเข้าไปแนะนำตัวกับลูกค้าได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถนำเสนอขายสินค้าได้อย่างคล่องแคล่ว น่าฟัง น่าติดตาม ตอบคำถามลูกค้าได้อย่างชัดเจน ฯลฯ ภาพเหล่านี้ต้องชัดเจนมาว่า เราต้องการให้พนักงานมีพฤติกรรมอะไรออกมาบ้าง
จากนั้นเราก็อาจจะมาเทียบกับพฤติกรรมปัจจุบันของพนักงานว่า เขาเป็นอย่างที่ภาพที่เราจินตนาการหรือไม่ ตรงไหนที่ยังไม่ตรง ก็บันทึกไว้ว่ามีอะไรบ้างที่ยังขาดอยู่ เราก็เริ่มเห็นประเด็นที่จำเป็นจะต้องพัฒนาของพนักงานแต่ละคนได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว
แต่ถ้าองค์กรของเรามี competency ใช้งานอยู่ ก็ให้จินตนาการพนักงานของเราใน Competency แต่ละตัวว่า เราอยากให้เขาเป็นแบบไหน ภาพแบบไหนที่เราต้องการ เช่น ความมุ่งมั่นตั้งใจ เราก็จินตนาการว่า พนักงานของเราจะต้องมีพฤติกรรมอย่างไร คล้ายๆ กับว่าเราเป็นผู้กำกับการแสดง และต้องการให้พนักงานได้แสดงออกมาอย่างไรใน Competency แต่ละตัว แล้วก็เอามาเทียบกับพฤติกรรมปัจจุบันของพนักงานว่ามันขาดอยู่เยอะหรือไม่ หรือยังต้องพัฒนาในมุมใดบ้าง
ด้วยจินตนาการแบบนี้ ก็น่าจะพอทำให้เราสามารถวางแผนหาประเด็นที่จะต้องพัฒนาพนักงานเป็นรายบุคคลได้ เมื่อเราเห็นภาพจากจินตนาการชัดเจน เราจะสามารถบอกได้ว่า นี่คือ ความรู้ นี่คือทักษะ หรือคือพฤติกรรม กันแน่ที่เราต้องการพัฒนาพนักงาน แล้ววิธีการพัฒนาที่เหมาะสมก็จะถูกระบุได้อย่างตรงประเด็น
ด้วยจินตนาการที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เราสามารถวางแผนพัฒนาพนักงานเป็นรายบุคคลได้เช่นกัน
ใส่ความเห็น