วัฒนธรรมในการให้ Feedback ในเรื่องของการทำงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือแม้กระทั่งระหว่างเพื่อนร่วมงานกันเองนั้น เริ่มเป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรอเมริกาที่พยายามสร้างวัฒนธรรมในการให้ Feedback กันแบบตรงไปตรงมาอย่างเช่น Netflix ที่เราอาจจะพอได้อ่านเจอตามหนังสือต่างๆ มาบ้าง
หลายท่านพออ่านเจอแล้วพบว่ามันเป็นสิ่งที่น่าทำ เป็นสิ่งที่ดี และอยากสร้างให้เกิดวัฒนธรรมแบบนี้บ้าง ก็เลยสั่งการลงไปว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป เราจะให้ Feedback กันแบบตรงไปตรงมาได้เลย และหวังว่า สิ่งที่สั่งการไปนั้นจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการทำงานขององค์กร
แต่เชื่อหรือไม่ว่ามันไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป หนักไปกว่านั้นหลายองค์กรมีปัญหาตามมามากมายที่มีสาเหตุมาจากการให้ Feedback กันอย่างตรงไปตรงมานี่แหละ แล้วเราควรจะทำอย่างไร ถ้าเราต้องการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานแบบนี้ขึ้นในองค์กร
- ให้ความรู้กันก่อน อย่างที่พนักงานหลายคนเข้าใจไปเองว่า Feedback มันคือสิ่งที่ไม่น่าฟัง มันคือพลังงานด้านลบของอีกคนหนึ่งที่ต้องการทำลายอีกคนหนึ่ง ด้วยความเชื่อแบบนี้ที่ติดตัวพนักงานมาตลอด ก็เลยทำให้ระบบ Feedback กลายเป็นยาขมที่พนักงานไม่ต้องการ แต่เมื่อถูกสั่งให้มีวัฒนธรรมในการให้ Feedback กันตรงๆ ความระส่ำระส่ายในการทำงานก็เกิดขึ้นทันที ดังนั้น เราคงต้องให้ความรู้ ความเข้าใจกันอย่างแท้จริงแก่พนักงานว่า Feedback จริงๆ แล้วมันคืออะไร และมันมีประโยชน์อย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไร ที่พนักงานคิดว่ามันคือการด่ากันตรงๆ มันใช่หรือไม่ ฯลฯ
- เปิดใจ เปลี่ยนมุมมอง สิ่งที่สองก็คือจะต้องทำให้พนักงานทุกคนเปิดใจ และเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของการให้ Feedback กันเสียใหม่ เมื่อพนักงานเข้าใจแล้วว่ามันคืออะไร ก็ต้องเริ่มต้นที่จะทำให้พนักงานเปลี่ยนมุมมองของการให้และรับ feedback กัน โดยอาจจะเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ก่อน เริ่มจากคำชมเชย เริ่มจาก Feedback ในเชิงบวก เพื่อทำให้พนักงานเห็นว่า มันคือเรื่องปกติที่คนเราสามารถคุยกันได้ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้
- ต้องยึดมั่นเป้าหมายเดียวกัน เป้าหมายเดียวกันก็คือ การทำงานให้ดีขึ้น การสร้างผลงานอันยอดเยี่ยม และการสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมก็ต้องอาศัยความคิดเห็นจากคนอื่น ซึ่งคนอื่นก็อาจจะมีเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ดังนั้น การเปิดใจรับฟังทั้งสองมุม ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีขึ้นได้อย่างมากมาย ดังนั้น เวลาที่เราจะให้และรับ Feedback ก็จะต้องยึดมั่นในเป้าหมายเดียวกันว่า เราให้ feedback กันก็เพื่อให้ผลงานดีขึ้น เราไม่มีเจตนาจะด่า ตำหนิ หรือทำให้อีกฝ่ายต้องเสียหน้า และสูญเสียความน่าเชื่อถือใดๆ
- พัฒนาผู้ให้ Feedback เมื่อพนักงานส่วนใหญ่เข้าใจ และเปิดใจในเรื่องนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องทำก็คือ การพัฒนาผู้ที่จะให้ Feedback ทุกคน ถึงเทคนิควิธีการในการพูด ในการให้ Feedback ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง และเราจะเอามาใช้ให้เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคนได้อย่างไร อย่างน้อยก็ให้ความรุนแรงของคำพูดที่จะใช้ลดลงไปได้บ้าง และสื่อให้เห็นถึงเจตนาในการพัฒนาผลงานได้จริงๆ
- พัฒนาผู้รับ Feedback สิ่งถัดมาที่ต้องทำก็คือ การพัฒนาเทคนิคในการรับ Feedback จากคนอื่นด้วยเช่นกัน ว่าจะมีวิธีการเปิดใจ การเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องที่ได้รับมาอย่างไร บางคนมีอีโก้สูงมาก และมักจะไม่ค่อยอยากฟังความเห็นอื่น ทั้งๆ ที่รู้ว่าความเห็นต่างนั้นดี ก็ต้องมีการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้กับคนที่ต้องรับ Feedback ด้วยเช่นกัน
เมื่อทุกอย่างเริ่มพร้อมแล้ว ก็อยู่ที่ผู้นำองค์กรแล้วล่ะครับว่าจะจริงจังกับเรื่องนี้สักแค่ไหน เมื่อไหร่ที่องค์กรเราเอาวัฒนธรรมของการให้ Feedback มาใช้จริงๆ ผู้นำองค์กรก็ต้องเปิดใจรับ Feedback ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่บอกให้คนอื่นคุยกันตรงๆ ได้ แต่ตนเองกับไม่เปิด และไม่ต้องการรับฟัง Feedback จากใครทั้งนั้น
ถ้าเป็นแบบนี้ วัฒนธรรมในการให้ Feedback กันก็คงจะเกิด และประสบความสำเร็จได้ยากมาก
ใส่ความเห็น