แม้ว่าเรื่องของค่าจ้างเงินเดือน และผลตอบแทนพนักงานตามผลงานจะมีความสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร แต่แค่เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถที่จะเก็บรักษาคนเก่งๆ ไว้ได้อย่างที่เราต้องการ หลายองค์กรเข้าใจว่า แค่เราจ่ายเงินเดือนพนักงานสูงๆ พนักงานก็น่าจะอยู่ทำงานกับเราไปตลอด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ต้องบอกเลยว่า มันไม่ใช่อย่างที่คิดแบบนั้น
การที่องค์กรต้องการที่จะเก็บรักษาพนักงานมือดี หรือคนเก่งขององค์กรไว้ให้ได้นั้น นอกจากระบบบริหารค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแล้ว ยังต้องมีแนวทางอื่นๆ ประกอบด้วยเช่นกัน คนเราไม่ได้แค่ต้องการเงินแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งแนวทางที่ว่า ก็มีดังต่อไปนี้
- เข้าใจความต้องการของพนักงานเก่งๆ แต่ละคนให้ชัดเจน คนเก่งแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน มีความต้องการจากองค์กรที่แตกต่างกันไป ดังนั้น คนที่เป็นผู้จัดการ หรือผู้บริหารจะต้องทำความเข้าใจพนักงานเก่งๆ ของตนเองแต่ละคนให้ได้อย่างถ่องแท้ โดยการสอบถามถึงสิ่งที่พนักงานชอบ ไม่ชอบ ความท้าทายในการทำงานของเขาคืออะไร สิ่งที่ถนัด ต้องการเติบโตไปในทางใด และต้องการที่จะเรียนรู้ในเรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจความต้องการของพนักงานเก่งๆ ที่มีความต่างกันออกไป เราไม่สามารถใช้วิธีในการบริหารจัดการมาตรฐานกับพนักงานที่มีความต้องการแตกต่างกันได้ โดยเฉพาะคนเก่งขององค์กร
- สร้างโอกาส เปิดโอกาสให้พนักงานเก่งๆ ได้ในสิ่งที่ต้องการ เมื่อเราทราบความต้องการของพนักงานเก่งๆ แล้ว สิ่งถัดไปก็คือ การพยายามสร้างโอกาสให้พนักงานคนนั้นได้ในสิ่งที่เขาต้องการ เช่นพนักงานเก่งๆ ต้องการที่จะได้ทำงานในโครงการที่ท้าทายมากกว่าเดิม เราก็สามารถหาโอกาสให้พนักงานได้ลงมือทำงานนั้นจริงๆ หรือพนักงานอาจจะต้องการพัฒนาตนเองในด้านใดด้านหนึ่ง ในฐานะผู้จัดการก็ต้องหาโอกาสให้พนักงานได้รับการพัฒนาตามที่เขาต้องการ ไม่ใช่รับทราบความต้องการแล้ว แต่กลับไม่ลงมือทำอะไรให้เกิดขึ้น แบบนี้ก็จะเก็บรักษาคนเก่งๆ ได้ยาก
- เติมการเรียนรู้และประสบการณ์ในหลายๆ ด้านให้คนเก่ง ปกติแล้วคนเก่งๆ มักจะต้องการที่จะได้รับประสบการณ์ในการทำงานใหม่ๆ อยู่เสมอ ต้องการงานที่ท้าทาย และงานที่ยากขึ้น ดังนั้น ผู้จัดการต้องไม่ลืมที่จะสอบถาม พูดคุย และมอบหมายงานที่ท้าทายให้กับคนเก่งๆ อยู่เสมอ เพื่อทำให้เขารู้สึกว่างานไม่น่าเบื่อ และมีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งที่ท้าทายตนเองอยู่เสมอ คนเก่งๆ สมัยนี้มักจะเบื่อที่ต้องทำงานซ้ำๆ แบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ดังนั้นลองหาโอกาสให้คนเก่งของท่าน ได้มีงานที่ท้าทายมากขึ้น ได้มีโอกาสคิดในสิ่งที่เป็นภาพใหญ่ขององค์กรมากขึ้น
- ให้ Feedback แก่เขาอย่างสม่ำเสมอ คนเก่งต้องการที่จะทราบว่า งานที่ตนเองทำไปแล้วนั้น มันดี หรือไม่ดีอย่างไร ต้องการความเห็นจากคนที่เก่งกว่า หรือจากนายของตนเองว่างานที่ทำไปนั้นต้องปรับปรุงหรือไม่อย่างไร เพื่อที่เขาจะได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอย่าลืมกำหนดเวลาในการให้ Feedback แก่พนักงานมือดีของเราอย่างสม่ำเสมอ เพราะการ Feedback ที่ดีนั้นนอกจากเป็นการบอกถึงผลงานที่ทำได้แล้วนั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีในการให้คำชม และทำให้พนักงานคนนั้นตระหนักในความสำคัญของตนเอง ทำให้เขารู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นมีความหมายสำหรับเขา
- ให้เวลากับพนักงานบ้าง คนเก่งก็ยังคงต้องการหัวหน้าที่ให้เวลากับเขา ในการพูดคุย ในการปรึกษาหารือ ในการให้กำลังใจ ผู้บริหารหลายคนคิดไปเองว่า พนักงานเก่งๆ นั้น ในเมื่อเก่งแล้ว ก็คงไม่ต้องการอะไรจากหัวหน้าอีก ก็เลยห่างเหิน ไม่ค่อยพูดคุยอะไร ไม่ค่อยชมเชยอะไร ไม่มีการหารือในเรื่องของอนาคตของพนักงานคนนั้น ตัวพนักงานเองก็เลยคิดเองบ้างว่า ทำงานแสดงความสามารถแทบตาย แต่นายกลับไม่เห็นความสำคัญอะไรแม้แต่จะเข้ามาคุย หรือ เข้าไปปรึกษาหารือ ก็ยังไม่มีเวลาให้เราเลย สุดท้ายเขาก็ไปแสดงความเก่งให้กับองค์กรอื่นที่มีเวลาให้เขามากกว่า
หลายคนสงสัยว่า ทำไม่คนเก่งขององค์กรเราไม่เห็นจะต้องการทำงานที่ท้าทายอะไรเลย มีแต่อยากทำงานแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ มอบหมายอะไรก็ไม่รับ อยากได้เงินเดือนขึ้นเยอะๆ โดยไม่ต้องทำงานอะไร อยากเลื่อนตำแหน่งโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากขึ้น ฯลฯ ผมบอกได้เลยว่า พนักงานคนไหนที่เป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น รับรองว่าไม่ใช่คนเก่ง หรือที่เราเรียกว่า Key Talent หรือ High Potential อย่างแน่นอน
ใส่ความเห็น