ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายท่านน่าจะได้ยินข่าว หรือได้มีโอกาสอ่านข่าวของ Google ที่แชร์ต่อกันมาว่า ทาง Google ได้ประกาศว่า พนักงานคนไหนที่จะทำงานที่บ้านเต็มเวลา ก็คือ ไม่เข้าบริษัทเลยนั้น จะถูกปรับลดเงินเดือนให้แตกต่างกันไปตามค่าครองชีพของพื้นที่ที่พนักงานอาศัยอยู่ แต่ถ้าพนักงานคนใดที่ต้องการกลับมาทำงานที่บริษัทเหมือมเดิม ก็จะไม่ถูกลดเงินเดือนแต่อย่างใด
บทความนี้แสดงให้เห็นว่า ทาง Google เองก็ต้องการที่จะให้พนักงานกลับมาทำงานที่บริษัทให้มากที่สุดเช่นกัน เท่าที่ผมอ่านจากงานวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วง Covid ที่ต้องให้พนักงานทำงานจากที่บ้านนั้น ผลที่ได้ออกมาส่วนใหญ่แทบจะเหมือนกันในทุกงานวิจัยและโพลจากสถาบันต่างๆ ก็คือ
- การทำงานที่บ้าน ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ ผลงานลดลงจากเดิมเมื่อเทียบกับการทำงานจากที่บริษัท
- ทำให้ความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างกันของพนักงาน เกิดความห่างเหินกันมาก ผลก็คือ การติดต่อสื่อสาร ประสานงานกันในการทำงานเกิดความขัดแย้งกันมากขึ้นกว่าเดิม
- ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานน้อยลง เพราะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ อาจจะมีการประชุมออนไลน์บ้าง แต่ก็ไม่เหมือนกับการที่ได้ถกกัน คุยกันต่อหน้า
- ปัญหาในการบริหารจัดการ การติดตามงาน และการวางตารางนัดหมายทำได้ยากขึ้นกว่าปกติมาก
ด้วยผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็เลยทำให้ผู้บริหารของหลายองค์กร มีความคิดว่า น่าจะให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่บริษัทเหมือนเดิม ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพนักงานได้มีโอกาสทำงานจากที่บ้านแล้ว บางคนก็ไม่อยากที่จะกลับเข้าบริษัทแบบเดิมอีกต่อไป ก็อาจจะมีเรื่องของการทำงานแบบ Hybrid เกิดขึ้นบ้างในบางองค์กร และบางแห่งพนักงานก็ยืนยันว่า การทำงานที่บ้านนั้นดีกว่า และไม่ขอกลับทำงานที่ออฟฟิศ
เมื่อเป็นดังนี้องค์กรเองก็คงต้องมีการปรับในเรื่องของอัตราเงินเดือน และสวัสดิการบางอย่าง สำหรับพนักงานที่อยู่ในสภาพการทำงานที่แตกต่างกันออกไป โดยที่ Google ก็ได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จะมีการปรับลดเงินเดือนพนักงานที่ต้องการจะทำงานจากที่บ้าน 100% โดยคำนวณจากค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป เทียบกับค่าครองชีพของพื้นที่ที่สำนักงานตั้งอยู่
เช่นพนักงานที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่ที่ค่าครองชีพต่ำกว่าที่สำนักงาน ก็จะถูกปรับลดเงินเดือนลงตามอัตราความแตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องเดินทาง และค่าใช้จ่ายในพื้นที่ที่อยู่อาศัยนั้นก็ไม่ได้แพงเท่ากับแถวบริษัท
ซึ่งจากการประกาศแนวทางนี้ออกไป ก็แน่นอนว่า จะต้องมีพนักงานบางคนที่ไม่ค่อยพอใจ บางคนก็บ่นว่า จริงๆ การคำนวณค่าครองชีพที่ออกมา กับของจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้นมันไม่ตรงกันเลย แต่ด้วยความเป็นนโยบายหลักที่ออกมา ก็เลยทำให้พนักงานบางคนต้องตัดสินใจกลับเข้าทำงานที่บริษัท เพราะไม่อยากที่จะถูกลดเงินเดือนในส่วนนี้ไปก็มี บางคนคิดแล้วมันก็คุ้มที่ไม่ต้องเดินทางไปไหน แต่ก็สามารถอยู่บ้านทำงาน และดูแลลูก และครอบครัวได้
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในบ้านเราบ้าง คนจะปั่นป่วนไม่น้อยเลย เพราะกฎหมายแรงงานบ้านเรานั้นไม่ให้ลดเงินเดือนพนักงานลงเลย ดังนั้นมาตรการนี้อาจจะเกิดได้ยากในประเทศไทย แต่อาจจะมีมาตรการอื่นที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน ก็คือ การสร้างตารางการขึ้นเงินเดือนที่แตกต่างกันไประหว่างพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน และพนักงานที่เข้าทำงานในบริษัท สำหรับพนักงานเดิมที่ทำงานอยู่
แต่สำหรับพนักงานใหม่ที่กำลังจะรับเข้าทำงาน นโยบายค่าตอบแทนที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ก็ถือว่าเห็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ ถ้าพนักงานอยู่จังหวัดไกลๆ จาก กทม. และต้องการทำงานจากที่บ้าน ก็อาจจะมีการพิจารณาคำนวณค่าจ้างเงินเดือนโดยอาศัยค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดมาประกอบได้เช่นกัน ก็จะดีสำหรับองค์กรที่ต้องการว่าจ้างพนักงานจากทั่วประเทศโดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้ามาใน กทม.
แต่ถ้าคนไหนต้องการที่จะเข้ามาทำงานใน กทม. ก็จะได้รับอัตราค่าจ้างเงินเดือนในอีกอัตราหนึ่งที่สอดคล้องกับค่าครองชีพในกทม. เช่นกัน ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่น่าศึกษาต่อไป ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบ้านเรา
ใส่ความเห็น