ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่เชื้อโรคโควิด 19 ยังอยู่กับเรา และดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ความรุนแรงนี้ไม่ได้แค่เพียงตัวเชื้อโรคเท่านั้น แต่ผลกระทบที่ตามมา ก็มีความรุนแรงไม่แพ้กัน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือภาวะเศรษฐกิจ การทำงาน การมีงานทำของประชาชนในประเทศ ซึ่งต้องพบกับภาวการณ์ว่างงาน หยุดงาน เลิกจ้าง ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ต่างก็ยอมรับกันว่า งานน้อยลงจริงๆ ในช่วงนี้
พองานน้อยลง พนักงานที่ยังมีโอกาสได้ทำงานอยู่กับองค์กร (ที่ไม่ถูกเลิกจ้างไปเสียก่อน) ก็จะยังคงมีงานทำ แต่งานนั้นก็น้อยลงไปอีกเช่นกัน จากที่เคยต้องทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน (รวมการทำงานล่วงเวลา) ก็เหลือแค่วันละไม่ถึง 8 ชั่วโมง พนักงานที่ทำงานในสำนักงาน ก็เริ่มที่จะมีเวลาว่างมากขึ้น เริ่มท่องอินเตอร์เน็ตมากขี้น เริ่มขายของออนไลน์กันมากขึ้น
พนักงานบางส่วนที่ทำงานจากที่บ้าน พอไม่มีงานเข้ามาให้ทำ บางคนก็พยายามที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากเวลาว่างที่มีอยู่ เพื่อ upskill ของตนเองให้พร้อมที่สุด เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์ดีขึ้น ก็สามารถลุยงานได้อย่างเต็มที่
แต่บางคนที่ไม่คิดแบบนั้นก็มีเยอะ มีเวลาว่างมากขึ้น โดยที่ยังได้เงินเดือนเท่าเดิม ก็เริ่มรู้สึกว่า งานสบายขึ้น วันๆ แทบไม่ต้องทำงานอะไรมากมายเลย อาจจะมีงานเข้ามาบ้างไม่มาก ประชุมบ้างก็ไม่เยอะ ฯลฯ จนสุดท้ายพนักงานกลุ่มนี้เริ่มรู้สึกว่านี่คือ เวลาในการทำงานของเขาเองที่เป็นภาวะปกติ
ตรงจุดนี้เองที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้วว่า บางองค์กรที่มีสถานการณ์ที่เริ่มดีขึ้น งานเริ่มเข้ามามากขึ้น คืองานเริ่มที่จะเหมือนกับภาวะปกติมากขึ้น พนักงานก็เริ่มที่จะมีงานเข้ามาให้ทำมากขึ้นในแต่ละวัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ
พนักงานโวยวาย เรียกร้อง ขอทุกอย่างเพิ่มเติม เพราะรู้สึกว่างานเยอะกว่าเดิม กว่าเดิมในที่นี้ก็คือ เยอะกว่าช่วงเวลาว่างๆ ที่อยู่ในสถานการณ์โควิด และบอกว่า งานเยอะเกินไป ไม่มีเวลาเลย ฯลฯ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าโควิด พนักงานกลุ่มนี้ทำงานมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันเสียอีก และไม่เคยมีคำบ่นอะไรเลยจากพนักงานด้วยซ้ำไป
นี่คือสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะการที่ไม่มีงานให้พนักงานทำในช่วงเวลาที่นานเกินไป มันจะเกิดความเคยชินขึ้น และทำให้พนักงานรับรู้ว่า นี่คือภาวะปกติของการทำงานซึ่งมันไม่ใช่เลย
ดังนั้นช่วงเวลานี้ผู้บริหารระดับสูงจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่างานน้อยลงมากแค่ไหน และพยายามที่จะหางานเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อทำให้บริษัทอยู่รอดได้ อยากให้พนักงานเตรียมตัวให้พร้อม ช่วงนี้ถ้าว่าง ก็พัฒนาตนเองบ้าง หรือผู้บริหารอาจจะต้องหาแนวทางให้พนักงานพัฒนาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้พนักงานรู้สึกว่าว่างมากจนเกินไป จนกลายเป็นความเคยชินใหม่ขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นกับองค์กรแห่งหนึ่ง ผู้บริหารเองพยายามที่จะหางานเข้ามาเพื่อหารายได้มาจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่ทำงานอยู่ ด้วยความเห็นใจพนักงานจึงไม่มีนโยบายเลิกจ้างใดๆ ปล่อยให้พนักงานได้รับเงินเดือนไปตามปกติ โดยที่ไม่มีงานให้ทำมากนัก พอถึงเวลาไปหางานเข้ามาได้ ก็เอามามอบหมายให้พนักงานทำ กลับกลายเป็นว่าพนักงานเริ่มบ่น อิดออดว่างานเยอะเกินไปหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่ทำงานได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำไป พนักงานหลายคนบอกว่า ต้องเพิ่มจำนวนพนักงานให้มากขึ้นเพราะคนไม่พอ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่ก็มีจำนวนพนักงานเท่านี้ และสามารถทำงานกันได้ในปริมาณงานที่มากกว่าช่วงเวลานี้ด้วยซ้ำไป ซึ่งก็ทำให้ผู้บริหารต้องนำเอาตัวเลขมาชี้แจงให้กับพนักงานได้รับทราบ
อย่าให้ความเคยชินของการว่างงานในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ทำให้พนักงานรู้สึกว่านี่คือสิ่งปกติของการทำงานของเขา เพราะเมื่อไหร่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ท่านอาจจะต้องรับมือกับปัญหาในอีกรูปแบบหนึ่งที่ตามมาก็เป็นได้ครับ
ใส่ความเห็น