ได้หยิบหนังสือเกี่ยวกับภาวะผู้นำอีกเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่านใหม่อีกรอบ ก็เห็นภาพและเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ก็เลยเขียนสรุปออกมาให้ได้อ่านกันอีกสักครั้ง เผื่อว่าจะเป็นไอเดียในการนำไปใช้สำหรับการพัฒนาผู้นำขององค์กรของเราให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า 5 Levels of Leadership ของ John C. Maxwell ซึ่งท่านนี้ก็ถือว่าเป็นอีกท่านหนึ่งที่เป็นผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องภาวะผู้นำ และเขียนหนังสือเกี่ยวกับภาวะผู้นำไว้หลายเล่ม
เรามาดูผู้นำในแต่ละระดับขั้นกัน โดยเริ่มต้นจากขั้นต่ำสุดไปสูงสุดครับ
- ระดับที่ 1 ผู้นำตามตำแหน่งหน้าที่ คือ คนที่ได้รับตำแหน่งในองค์กรในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับต้น กลาง สูง และเป็นตำแหน่งที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำของหน่วยงานหรือองค์กร เรียกได้ว่า เมื่อไหร่ที่ได้รับตำแหน่งเหล่านี้ ก็จะเริ่มมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำ ผู้นำตามตำแหน่ง จะเป็นคนที่มีผู้ตามยอมทำตามเพราะเพียงแค่ว่าเรามีตำแหน่งเป็นหัวหน้าเขา ไม่ใช่เป็นการยอมทำตามในฐานะที่เราเป็นผู้นำที่เขาไว้วางใจและเชื่อใจ แต่ตามเพราะว่า เรามีตำแหน่งค้ำคออยู่ ถ้าลูกน้องไม่ตามเราก็อาจจะมีปัญหาทางด้านผลงานก็ได้ เหมือนกับทำตามผู้นำเพราะความกลัวมากกว่า แต่เมื่อไหรที่ผู้นำคนนี้ออกจากตำแหน่งไป ก็จะไม่มีใครสนใจ เหมือนกับว่าไม่รู้จักกันมาก่อน
- ระดับที่ 2 ผู้นำโดยการสร้างสัมพันธ์ที่ดี ผู้เขียนได้แนะนำว่า เป็นระดับเริ่มต้นของการเริ่มเป็นผู้นำที่ดี ก็คือ การเป็นผู้นำนั้นจะต้องสร้างอิทธิพลต่อผู้ตามได้ (Influence) กล่าวคือ ผู้ตามจะต้องยอมทำตามด้วยความเต็มใจ แต่ในระดับที่ 1 นั้น ผู้ตามยอมทำตามผู้นำแค่เพียงเพราะมีตำแหน่งเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีตำแหน่ง ผู้ตามก็จะไม่มีความรู้สึกว่าคนนั้นคือผู้นำของเขา การที่จะเปลี่ยนจากผู้นำในระดับหนึ่งมาเป็นระดับที่สองนั้น จะต้องเปลี่ยนจากคำว่า ฉัน มาเป็นคำว่า เรา (Leader who move up to Level 2 shift their focus from me to we) เป็นระดับที่จะเริ่มทำให้ผู้ตามยอมทำตามด้วยความเต็มใจ เริ่มต้นจากความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในตัวผู้นำตามมา วิธีการก็คือ ให้ความใส่ใจทั้งในเรื่องงาน และนอกงาน ให้ความเป็นธรรมในการทำงาน สื่อสารระหว่างกันอยู่เสมอ เวลาที่พนักงานทำงานได้ดี ก็ให้ความสำคัญกับพนักงานคนนั้นอย่างจริงใจ ฯลฯ
- ระดับที่ 3 ผู้นำที่จะต้องสร้างผลงานที่ดี จนผู้ตามให้การยอมรับ และเหตุผลที่ยอมทำตามผู้นำก็คือ มีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำว่า จะสามารถนำพาองค์กรไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้ เริ่มต้นจากการมีตำแหน่งผู้นำ ตามด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จากนั้นก็ต้องไม่ลืมสร้างผลงานด้วย ผู้นำหลายคนสร้างแต่ความสัมพันธ์ที่ดี แต่ไม่สามารถสร้างผลงานได้ ก็จะยังไม่สามารถทำให้ผู้ตามรู้สึกอยากตามได้อย่างเต็มที่ เพราะยังรู้สึกไม่มั่นคงและไม่เชื่อมั่นที่จะตามผู้นำ สนิทสนมกันอย่างเดียว แต่งานไม่ออก ก็คงไม่มีใครอยากตามผู้นำแบบนี้เช่นกัน ในการสร้างผลงาน และผลลัพธ์ที่ดีนั้น ก็ต้องเริ่มจากมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน บริหารจัดการงานอย่างได้ผล ริเริ่มวิธีการแนวทางใหม่ๆ สร้างผลลัพธ์ใหม่ๆ ได้เสมอ เป็นต้น
- ระดับที่ 4 ผู้นำที่ทำให้คนอื่นยอมทำตามเพราะว่าเราสร้างและพัฒนาคนให้ดีขึ้น เก่งขึ้น ในระดับนี้เป็นระดับที่เรียกว่า สร้างความแตกต่างให้กับผู้นำได้อย่างชัดเจนมาก กล่าวคือ ผู้นำที่มีความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างผลงานที่ดีด้วย ก็ถือว่า เป็นผู้นำที่ดีแล้ว แต่ถ้าผู้นำคนนั้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้ขึ้นมาอีกระดับก็คือ สามารถที่จะพัฒนาคนอื่นให้ก้าวหน้า และสร้างคนอื่นให้เป็นผู้นำได้ด้วย จะยิ่งเป็นผู้นำที่มีแต่คนกล่าวถึงเสมอ เวลาทำงานก็ไม่เอาผลงานเข้าตัวเอง แต่จะให้ความดีความชอบกับคนอื่น แต่เวลาที่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในการทำงาน ก็จะเปิดอกรับผิดชอบเอง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะส่งเสริมให้คนอื่นเป็นผู้นำที่ดีได้ และเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นผู้นำ
- ระดับที่ 5 ผู้นำที่สมบูรณ์แบบ เรียกได้ว่า ถ้าพัฒนากันมาถึงขั้นนี้ ก็จะกลายเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะกลายเป็นที่ได้ความยอมรับนับถือจากทุกคนในองค์กร แม้ว่าคนนั้นจะไม่ใช่ลูกน้องโดยตรงก็ตาม อีกทั้งยังได้รับการยอมรับจากคนภายนอกองค์กรด้วยว่า เป็นผู้นำที่มีทั้งฝีมือในการทำงาน และได้ใจพนักงานทุกคนทั้งหมดในองค์กร แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง สร้างผู้นำรุ่นใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมทั้งวางรากฐานที่ดีเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นให้กับองค์กร ไม่มองแค่เพียงประโยชน์ส่วนตนอีกต่อไป แต่จะมองถึงประโยชน์ขององค์กร และประโยชน์ของสมาชิกทุกคนในองค์กรอยู่เสมอ
นี่ก็คือสิ่งที่สรุปได้จากหนังสือ 5 ระดับของผู้นำ ของ John C. Maxwell ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่เป็นยุคสมัยที่เราต้องการผู้นำตัวจริงแทบจะในทุกองค์กร ดังนั้นการมีกรอบแนวคิดภาวะผู้นำที่ชัดเจน จึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการวางแนวทางในการพัฒนาผู้นำขององค์กรต่อไป
ใส่ความเห็น