ฝ่ายบุคคล กับการเป็นที่พึ่งของพนักงานในช่วงโควิด 19 (Lockdown)
ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิดเมื่อปี 2563 จนมาถึงปีนี้ 2564 และเข้าสู่การ Lockdown อีกครั้งในช่วงเดือน กรกฎาคม 2564 นี้ ผมเชื่อว่า อีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำงานหนักขึ้น ไม่แพ้หน่วยงานอื่นเลยก็คือ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร
พี่ๆ บางท่านที่เป็นผู้บริหารฝ่ายบุคคลขององค์การ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “HR เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว”
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหลายแห่งที่จากเดิม ไม่เคยมองฝ่ายบุคคลว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจมากนัก แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา ผู้บริหารหลายท่านต้องพึ่งพาฝ่ายบุคคลในการดำเนินการหลายๆ อย่างให้กับพนักงาน จนกระทั่งมีผู้บริหารบางคนก็เอ่ยขึ้นมาว่า “เพิ่งรู้ว่า งานฝ่ายบุคคลที่หนักเหมือนกันนะ”
ผมเองทำงานอยู่ในแวดวงการบริหารทรัพยากรบุคคลมากว่า 20 ปี ได้ยินผู้บริหาร อดีตผู้จัดการฝ่ายบุคคล รวมทั้งที่ปรึกษารุ่นอาวุโสที่ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ฝึกฝนวิชา ต่างก็พูดคล้ายๆ กันว่า HR เป็นงานที่ปิดทองหลังพระ เพราะว่า ไม่ว่าธุรกิจจะรุ่งเรืองแค่ไหน หรือ ย่ำแย่แค่ไหน ล้วนแต่ต้องบริหารจัดการคนที่อยู่ในธุรกิจนั้น แต่ผู้บริหารมักจะมองข้ามกระบวนการเหล่านี้ และมุ่งไปที่ตัวผลลัพธ์มากกว่าเบื้องหลังการทำงานของฝ่ายบุคคลที่กว่าจะบริหารจัดการทั้งระบบ ทั้งคนก็ต้องฝ่าฟันด่านอรหันต์ต่างๆ มากมาย
ในช่วง โควิด 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา HR หรือฝ่ายบุคคล เป็นหน่วยงานที่พนักงาน และผู้บริหารเรียกหา เรียกใช้งานบ่อยที่สุดแล้ว ลองนึดทบทวนดูก็ได้ครับ
- บริษัทมีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน ก็เรียกหา HR ว่าจะต้องทำอย่างไร จะมีขั้นตอน กฎเกณฑ์อย่างไร กฎหมายเขาว่าอย่างไรบ้าง บริษัทต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ
- บริษัทได้รับผลกระทบจากการปิด/หยุดงาน ผู้บริหารก็มาสอบถามฝ่ายบุคคลอีกว่าตอนนี้เขาปิดห้างกัน เขา Lockdown กัน เราต้องทำอย่างไรบ้าง พนักงานจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ กฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เราต้องทำอย่างไรบ้าง พนักงานเองก็เดินมาถามพี่ๆ HR ว่า พวกผม พวกหนู จะต้องทำอย่างไร ต้องไปรับเงินเยียวยาจากที่ไหนต้องกรอกแบบฟอร์มอะไร ฯลฯ HR ก็ก้มหน้าก้มตาช่วยตอบกันไป
- บริษัทจะทำงานที่บ้าน ผู้บริหารก็เดินมาหาฝ่ายบุคคลอีกเช่นกัน ว่า เราจะต้องทำอย่างไร พนักงานจะทำงานที่บ้านได้หรือไม่ แล้วต้องเตรียมความพร้อมเรื่องอะไรบ้าง พนักงานก็สอบถามมาว่า พวกผมทำงานที่บ้านแล้ว ผมจะได้หรือไม่ได้อะไรบ้างจากบริษัท
- ทำงานที่บ้านแล้วเหนื่อยล้าทำยังไงดี พอทำงานที่บ้านไปสักพัก พนักงานเริ่มบ่นว่า รู้สึกเครียด รู้สึกล้าจากการทำงาน ขนาดทำงานที่บ้านยังเหนื่อยขนาดนี้ หน้าตาพนักงานเริ่มหมองคล้ำ คิ้วขมวด ใบหน้าไร้รอยยิ้ม ฯลฯ ผู้บริหารก็ปรึกษาฝ่ายบุคคลอีกเช่นกัน ว่า จะต้องทำอย่างไรดี มีกิจกรรมอะไรมั้ย หรือต้องดูแลพนักงานอย่างไรไม่ให้เขาเครียดเกินไปในช่วงนี้ ฯลฯ
- พนักงานปรึกษา HR แทบทุกเรื่อง ทางฝ่ายพนักงานเอง เวลามีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการทำงาน การใช้ชีวิต การป้องกันไวรัส ฯลฯ ก็มาสอบถาม HR เสมอ พนักงานบางคนแค่เพียงต้องการคนที่จะคุยด้วย ไม่รู้จะคุยกับใครดี งั้นก็พี่ๆ HR นี่แหละ ดังนั้นเราจะเห็นจากหลายองค์กรในช่วงนี้ ที่ฝ่ายบุคคลกลายเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวให้กับพนักงานในบริษัท บางคนไปเรียนรู้วิธีการให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะมาให้คำปรึกษาแก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานสบายใจมากขึ้น
- โควิดมาแล้ว จะทำยังไงกันดี ตั้งแต่การป้องกัน มาตรการรักษาระยะห่าง มาตรการการเข้าออกสถานที่ทำงาน ฯลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามา HR ก็เข้ามามีส่วนเป็นแม่งานตั้งแต่แรกเริ่ม พอช่วงที่ระบาดหนักขึ้น บางองค์กรพนักงานติดเชื้อโควิด ก็โทรมาร้องไห้กับ HR ว่า จะทำอย่างไรดี ไม่มีเตียงไม่มีโรงพยาบาลรับเลยตอนนี้ HR ก็ต้องวิ่งวุ่นกันไป พี่บางคนพอจะรู้จักผู้บริหารโรงพยาบาล ก็รีบติดต่อให้ บางคนพอจะรู้จักกับผู้ใหญ่ในหน่วยงานราชการก็พยายามติดต่อกันไป HR อีกหลายคนที่พยายามโทรจิกหาสถานที่รักษาพยาบาลให้พนักงานก็หลายคน บางโรงงานปิดตึกทำงานส่วนหนึ่ง เพื่อให้เป็นที่พักกักตัวสำหรับพนักงานที่ติดเชื้อก็มี สิ่งเหล่านี้ HR ล้วนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
เอาเข้าจริงๆ ผมว่ายังมีอีกเยอะที่ไม่ได้กล่าวถึง ผมเองไม่ได้บอกว่าหน่วยงานอื่นไม่สำคัญนะครับ เพียงแต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องดูแลพนักงานของบริษัท เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนกระทบต่อความเป็นอยู่ของพนักงานในบริษัทเกือบทั้งหมด ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบตรงกับเรื่องราวของพนักงานในบริษัทก็คือ ฝ่ายบุคคล และผู้บริหารระดับสูงระดับกลางทั้งหมด ที่ต้องเดินตามมาตรการต่างๆ ที่ได้ตกลงกันไว้
ช่วงนี้ HR อาจจะทำให้พนักงานถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้างในช่วงนี้ แต่สุดท้ายก็เพื่อทำให้พนักงานทุกคนในบริษัทอยู่รอดปลอดภัยจากเชื้อโควิด19
ก็ขอให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ไปด้วยดีกันทุกบริษัทนะครับ ขอเป็นกำลังใจเล็กๆ ให้กับ HR ทุกท่านครับ
ใส่ความเห็น