การทำงาน HR กับ อิคิไก จากการทำงาน

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า Ikigai อิคิไก ที่มีผู้ให้ความหมายว่า “คุณค่าของการมีชีวิตอยู่” ซึ่งเป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่มาก เลยทำให้ทุกคนที่ได้มีโอกาสศึกษา หรือ อ่านเรื่องราวของอิคิไก นั้นต้องการที่จะค้นหาคุณค่าของชีวิตของตนเอง หาเป้าหมาย หาแรงบันดาลใจของชีวิต ฯลฯ เพื่อทำให้เรารู้สึกได้ว่า เรากำลังมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย และมีคุณค่าในตัวเอง

หลายคนอ่านจบแล้ว อาจจะรีบค้นหาจากงานที่ตัวเองทำอยู่ และตอบตัวเองว่า นี่มันไม่ใช่งานที่มีความหมายเลยสักนิด ก็เลยหางานใหม่ที่ตอบความหมายของตนเอง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน จริงๆ แล้ว อิคิไก มันสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าเราจะทำงานในปัจจุบันของเรา และเป็นงานที่เราอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรกับมันมากนัก แต่เราก็สามารถค้นหาความหมายของมันได้ และทำให้เราเกิดความรู้สึก อิคิไก ได้เช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องไปหางานใหม่อะไรเลย

ยกตัวอย่างงาน HR หลายท่านทำงานบริหารทรัพยากรบุคคล เพราะว่า เรียนมาทางด้านนี้ ดังนั้นก็ทำงานด้านนี้ก็ตรงสุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่งานในฝันของเราก็เป็นไปได้ แต่ถ้าท่านไหนบอกว่านี่คืองานในฝันของเราเลย อันนี้ก็ถือว่าได้เปรียบกว่า

ผมคุยกับรุ่นพี่ที่เกษียณอายุไปเมื่อปีที่แล้ว ถามพี่เขาว่า ทำงาน HR จนเกษียณ รู้สึกอย่างไรบ้าง ท่านบอกว่า มีความสุขมากที่ได้ทำงาน HR ผมก็ถามกลับไปว่า รู้สึกมีความสุขอย่างไร คำตอบที่ได้มาก็ประมาณว่า ได้ช่วยองค์กรหาคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน เพื่อทำให้ผลงานขององค์กรดีขึ้น ได้ช่วยหาวิธีการพัฒนาพนักงาน และได้เห็นพนักงานแต่ละคนเติบโตขึ้นไปตามตำแหน่งหน้าที่การงานของเขา ได้เห็นความสุขรอยยิ้มที่เกิดขึ้นจากระบบงาน HR และกิจกรรมต่างๆ ที่ได้จัดให้กับบริษัท ได้ช่วยเหลือพนักงานที่มีปัญหาประสบเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าตอนเศรษฐกิจตก ตอนน้ำท่วมบ้าน หรือแม้กระทั่งตอนที่โควิดระบาด ฯลฯ ได้ทำให้เขามีรอยยิ้มมากขึ้น รู้สึกมีความสุขมากขึ้นอีกนิด แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีบ้างที่ถูกตำหนิ ถูกว่าร้ายป้ายสี ถูกเหน็บแนมบ้าง จากทั้งพนักงานและผู้บริหาร แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงอุปสรรคที่ทำให้เราพัฒนาตนเอง เพื่อทำให้เราสามารถที่จะให้บริการพนักงานได้อย่างเต็มที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อไหร่ที่ได้ยินพนักงานกล่าวขอบคุณเราอย่างซาบซึ้ง บางคนเข้ามากอดด้วยความปิติ บางคนบอกว่า ถ้าไม่มี HR ที่คอยให้คำปรึกษา ก็คงไม่สามารถผ่านพ้นความลำบากได้ ฯลฯ นี่คือความรู้สึกว่า งานที่เราทำนั้นมีความหมาย และนี่ก็คือ ช่วงเวลาแห่งอิคิไก

เราแค่มองความสำคัญของคนอื่นมากกว่าตัวเอง มองลูกค้า มองผู้ที่มาใช้บริการเราให้มากกว่าตนเอง ยินดีที่จะทำให้คนอื่นรู้สึกดี และมีความสุขจากงานที่เราทำ

ในทางตรงกันข้าม มีรุ่นพี่อีกท่านหนึ่งที่รู้จักกัน ท่านนี้ก็บ่นตลอดว่า “งาน HR ที่ทำนั้นมันไม่มีความสุขเลย ไหนจะความคาดหวังให้เราหาแต่คนเก่งๆ เข้ามา ไหนจะต้องทำให้พนักงานทำงานให้ได้ตามผลงาน ไหนจะระเบียบข้อบังคับต่างๆ ไหนจะคำบ่น คำด่า จากทั้งพนักงานและจากผู้บริหาร ทำอะไรก็ไม่เคยได้ดั่งใจคนอื่นสักคนเดียว แบบนี้จะไปหาความสุขจากไหน งานแบบนี้ทำให้ตายก็ไม่เห็นถึงความหมายในงานเลย”

ทั้งๆ ที่งานก็เป็นงาน HR เหมือนกัน หน้าที่และความรับผิดชอบแบบเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะแตกต่างกันไปบ้างมากน้อย แต่ทำไมคนสองคนถึงรู้สึกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การที่งานของเราจะมีความหมายนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ตัวงานว่าจะยิ่งใหญ่ หรือต่ำต้อย มันอยู่ที่ความรู้สึกของคนทำงานที่มองเห็นคุณค่าของงานต่อคนอื่นที่มาใช้บริการ งานทำความสะอาดที่ดูต่ำต้อย แต่ทำไมคนทำงานหลายคนที่มีความสุขกับการทำให้คนอื่นที่มาใช้บริการสถานที่นั้น ยิ้ม และรู้สึกสะอาดน่าใช้ เข้ามาใช้งานด้วยรอยยิ้ม และความประหลาดใจ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ สามารถทำให้คนทำความสะอาดรู้สึกถึง อิคิไก ได้ และทำให้ตนเองรู้สึกว่างานที่ตนทำอยู่นั้นมันมีความหมายต่อผู้อื่นจริงๆ

ลองนึกถึงงานตัวเองดูก็ได้ครับ เคยมั้ยที่มีคนอื่นมาขอบคุณเราด้วยความจริงใจ มากล่าวชื่นชมเราด้วยความสุขใจ ยิ้มให้เราด้วยความสบายใจที่มีเราคอยช่วยเหลือเขาในยามที่เขามีปัญหาต่างๆ เหตุการณ์แบบนี้แหละครับ ที่เราเรียกมันว่า ความหมายของการทำงาน และมันจะส่งต่อไปยังความหมายของการมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน

ดังนั้นการค้นหาความหมายของการทำงาน เราไม่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ถ้าเราไม่รู้สึกขอบคุณคนอื่น ไม่รู้สึกว่าต้องการทำให้คนอื่นมีความสุขด้วยงานที่เรากำลังทำอยู่ ดังนั้น การที่เราทำงาน HR เราสามารถทำให้พนักงานทุกคนในองค์กรมีความสุขได้

มี HR หลายคนที่บอกผมว่า เขามีความสุขมาก ที่งาน HR ที่เขาทำอยู่นั้น ทำให้ได้เห็นรอยยิ้มของพนักงานที่เข้ามาทำงานในบริษัททุกวัน ช่วงเวลาที่ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นก็คือ ความรู้สึกของคุณค่าแห่งงานและชีวิตของตนเอง ซึ่งมันสามารถเกิดขึ้นกับทุกๆ คนได้ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ลองทำดูนะครับ ท่านอาจจะได้รับรู้ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่จากงานที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็เป็นได้ครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: