เวลาที่เกิดภาวะวิกฤติขึ้น ไม่ว่าจะในองค์กร หรือในประเทศก็ตาม ผู้นำขององค์กรถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญมาก เพราะในช่วงนี้ พนักงานต่างก็มีแต่ความกลัว กังวลใจ และไม่แน่ใจในอนาคตของตัวเอง ฯลฯ ซึ่งผู้นำองค์กรนี่แหละที่จะเป็นผู้ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานในองค์กรได้อย่างดี
ดังนั้นเวลาที่เกิดภาวะวิกฤติขึ้นในองค์กร การบริหารจัดการต่างๆ ที่เคยทำมาในภาวะปกติ ก็จะใช้ไม่ได้ทันที เราจำเป็นที่จะต้องคิดใหม่ และวางแผนในการบริหารจัดการกันใหม่หมด เป้าหมายก็คือ ทำให้องค์กรผ่านพ้นภาวะวิกฤติไปได้ในที่สุด
ดังนั้นบทบาทของผู้นำมีความสำคัญมาก
- ต้องนำในด่านหน้า ในภาวะปกติ ผู้นำอาจจะมีการสั่งการ มีการตรวจสอบความคืบหน้าของการทำงานกันไปตามลำดับขั้นของการบังคับบัญชาได้ แต่ในภาวะวิกฤติ ผู้นำคงจะอาศัยลำดับขั้นในการบังคับบัญชาไม่ได้อีกต่อไป เพราะมันช้ามาก และกว่าจะเสนอขึ้นมาได้แต่ละเรื่อง กว่าจะมอบหมายลงไปในแต่ละระดับ คงไม่ทันกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นในเรื่องสำคัญๆ จะต้องวิ่งตรงไปหาผู้นำองค์กรเลย เพื่อที่จะได้ทราบรายละเอียดทั้งหมดจากหน้างานจริงๆ ไม่ใช่ถูกกรองแล้วกรองอีก พอถึงตัวผู้นำ ทุกเรื่องก็กลายเป็นเรื่องดีไปหมด ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แบบนี้คงจะแก้วิกฤติไม่ได้
- ลงลึกในข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ผู้นำปกติจะไม่ลงลึกในข้อมูล แต่ละบริหารจัดการและดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ตามเป้าหมาย โดยให้ผู้จัดการะดับรองๆ ลงไปไปลงมือปฏิบัติตามสายการบังคับบัญชา แต่ถ้าเป็นในภาวะวิกฤติ ผู้นำจะต้องดึงเอาข้อมูลสำคัญๆ เข้ามาพิจารณาเองในรายละเอียด เพื่อที่จะตัดสินใจได้อย่างมั่นคงและแน่นอนมากที่สุด ข้อมูลที่ถูกกรองมาหลายชั้น จะทำให้เกิดการบิดเบือนไปมาก และอาจจะใช้ประกอบการตัดสินใจไม่ได้จริง
- มีเป้าหมายที่ชัดเจน ในช่วงวิกฤติ เป้าหมายก็คือ ต้องผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ก่อน ดังนั้น ผู้นำควรจะกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนแน่นอน ว่าช่วงระยะเวลานี้จะต้องทำอะไร ทำถึงเมื่อไหร่ และเมื่อผ่านจุดแรกไปได้สักแค่ไหนจึงจะเดินไปในขั้นตอนต่อไปได้ ดังนั้น ปกติองค์กรธุรกิจเราเป้าหมายก็คือการสร้างผลกำไร สร้างยอดขาย แต่ช่วงวิกฤติ เราคงไปใช้เป้าหมายนั้นไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายกันใหม่ว่า ช่วงเวลาแบบนี้เราจะอยู่รอดอย่างไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้องค์กรพ้นวิกฤติไปได้ เรื่องอื่นแม้ว่าจะมีผลกระทบตามมา แต่ก็ต้องข้ามไปก่อน เพียงแต่อย่าลืมวางแผนเพื่อปรับปรุง หรือเยียวยาไว้ด้วย หลังพ้นวิกฤติไปแล้ว
- สื่อสารต้องชัด และสื่อบ่อยๆ ในภาวะวิกฤติ พนักงานจะสับสนอลม่านกันไปหมด คิดกันไปเองต่างๆ นานา ต่างคนต่างมีความคิดเห็นของตนเองเยอะแยะไปหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนของพนักงาน ผู้นำจำเป็นต้องมีการสื่อสารถึงเป้าหมายบ่อยๆ ว่าเราจะเน้นอะไรในช่วงนี้ ช่วงหน้า ฯลฯ สื่อสารด้วยความมั่นใจ ด้วยเหตุผล ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และที่สำคัญก็คือ เป้าหมายที่ชัดเจนที่ได้วางแผนมาอย่างรัดกุมแล้ว เมื่อลงมือทำแล้วก็ต้องสื่อสารบ่อยๆ เพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกมั่นใจในช่วงภาวะวิกฤตินี้
- ข้ามระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปบ้างก็ได้ ในภาวะวิกฤติที่มีแต่สถานการณ์เร่งด่วนต่าง ๆ ที่ต้องแก้ไขและตัดสินใจ ผู้นำควรจะข้ามกฎระเบียบต่างๆ ไปบ้าง เช่น เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้น แล้วต้องประชุม ก็เรียกประชุมทันทีได้เลย ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาทำงานก่อน แล้วค่อยมานั่งประชุมกัน หรือ จะแก้ไขเหตุการณ์อะไร ถ้ามันเกิดขึ้นในวันหยุด แทนที่ลงมือทำในทันที แต่กลับบอกว่า นี่คือวันหยุด ไม่ต้องทำงาน ไว้วันทำงานก่อนแล้วค่อยแก้ไข ฯลฯ แบบนี้มันจะแก้ไขและตัดสินใจทันหรือ
- ให้กำลังใจพนักงานบ้าง แสดงความเห็นใจ ให้กำลังใจ เข้าใจในความรู้สึกของพนักงานทุกคน ลงมายืนเคียงข้างกับพนักงาน ออกไปทำงาน ณ ด่านหน้า ช่วยพนักงานทำงานบางอย่างที่จำเป็นบ้าง ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องทำงานของตัวเองเพียงอย่างเดียว ไม่เคยเหลียวลงมามองพนักงานที่ลุยงานด่านหน้าเลย
ช่วงนี้หลายองค์กรเกิดภาวะวิกฤติขึ้นจากสาเหตุของโควิด19 ดังนั้น ผู้นำองค์กรเองจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีการบริหารจัดการใหม่ เพื่อนำพาองค์กร และพนักงานของเราให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตินี้ไปได้
ผู้นำประเทศจะเอาแนวทางนี้ไปปรับใช้บ้าง ก็ไม่ได้ห้ามนะครับ
ใส่ความเห็น