เราไม่จำเป็นต้องรอให้พนักงานของเรามีความเหนื่อยล้าจากการทำงานก่อน (Burnout) แล้วจึงค่อยมาหาวิธีการป้องกันและแก้ไข แต่สิ่งที่เราต้องทำก็คือ วางแนวทางที่ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานของเราต้องประสบกับภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงานมากกว่า
แนวโน้ม burnout นี้เกิดขึ้นมากขึ้น ถี่ขึ้น และบางครั้งมาโดยที่เราไม่รู้ตัวก็มี ดังนั้นทุกองค์กร โดยเฉพาะฝ่ายบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องของทรัพยากรบุคคลขององค์กร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผน และกำหนดแนวทางในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงานให้กับพนักงาน
แนวทางในการป้องกัน Burnout ที่ผมนำมาเรียบเรียงในบทความนี้มาจาก บทความฉบับหนึ่งที่ลงไว้ใน website Harvard Business Review ชื่อบทความว่า Six Lessons on Fighting Burnout from Boston’s Biggest Hospital เขียนโดย Joshua J. Baugh and Ali S. Raja ซึ่งได้ให้แนวทางสำหรับการป้องกัน และต่อสู้กับภาวะ Burnout ของพนักงานในองค์กรได้
- Rewarding Work ต้องมีการจัดรางวัลในการทำงานให้เป็นระยะๆ เราเข้าใจว่า รางวัลผลงานก็คือ การขึ้นเงินเดือน หรือโบนัส หรือรางวัลที่เป็นตัวเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นภาพปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว สิ่งที่องค์กรควรจะเพิ่มเติมเข้าไปก็คือ รางวัลทางจิตใจ ให้กับพนักงานที่ทำงานได้ดี เช่น การให้คำชื่นชม การทำให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่าของงาน และทำให้เข้ารู้สึกว่า งานของเขานั้นมีความหมายสำหรับคนอื่นเสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้พนักงานรู้สึกอิ่มเอมใจจิตใจ และเป็นตัวเพิ่มพลังในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง มากกว่ารางวัลที่เป็นตัวเงินด้วยซ้ำไป เช่นในโรงพยาบาล การที่พยาบาลได้เห็นผู้ป่วยหายจากการเจ็บไข้ และกลับบ้านได้ และหัวหน้าก็นำประเด็นเหล่านี้มาพูดคุยกับพนักงานคนนั้น รวมทั้งผู้ป่วยเองก็ได้ให้การชื่นชม และขอบคุณการบริการที่เขาได้รับตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลนั้น ก็ทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุขมาก และทำให้พนักงานหายเหนื่อยได้ในทันที
- Autonomy ให้อิสระในการทำงานแก่พนักงานแก่พนักงานมากขึ้น ทำให้พนักงานสามารถที่จะตัดสินใจในหน้างานด้วยตนเองได้มากขึ้น ลดกฎระเบียบที่ไม่สำคัญลง การควบคุมจากหัวหน้าแบบเคร่งครัดมากจนเกินไป จนพนักงานไม่สามารถกระดิกตัวทำอะไรได้ จะทำให้เกิดความเครียดในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราให้อำนาจแก่พนักงานสามารถควบคุมผลลัพธ์ในการทำงานของตนเองได้ ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความท้าทายของงาน และทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของงานนั้นๆ ความกดดัน ความเครียดจากการถูกควบคุมมากๆ ก็จะหายไป
- Fairness and Transparency การสร้างความเป็นธรรม และความโปร่งใสในการทำงาน ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะในหลายองค์กร ความไม่โปร่งใสนี่แหละที่ทำให้พนักงานรู้สึกเครียดมาก และส่งต่อให้เกิดภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่เน้นความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมายงาน การพิจารณาผลงาน การปฏิบัติต่อกัน ไม่เล่นพรรคเล่นพวก เล่นการเมืองในองค์กร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้าลดลงได้ พนักงานก็จะ Burnout น้อยลง
- Reasonable Workload ต้องพิจารณาเรื่องของภาระงานของพนักงานให้ดี การมอบหมายงานให้พนักงานจะต้องดูภาระงานปัจจุบันให้ชัดเจน ต้องไม่มอบหมายให้คนใดคนหนึ่งมากจนเกินไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะพนักงานที่เก่งๆ มักจะได้รับงานจากหัวหน้ามากกว่าคนอื่น เพราะด้วยความเก่งของเขา ดังนั้น ก็จะทำให้พนักงานเก่งๆ มีโอกาส Burnout ได้ง่ายกว่า ดังนั้น การมอบหมายงานจึงต้องพิจารณา ถึง ปริมาณงานที่พนักงานแต่ละมีอยู่ในมือด้วย แต่ละองค์กรอาจจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานของปริมาณงานปกติว่า ในแบบที่ไม่ต้องเหนื่อยมากมายนั้น พนักงานแต่ละคนจะต้องมีงานมือสักเท่าไหร่ ผมว่าตรงนี้องค์กรที่ทำงานมาสักพักจะเริ่มมองและวิเคราะห์ปริมาณงานที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคนได้ชัดเจนมากขึ้น
- A Sense of Community เพื่อนร่วมงานก็สำคัญ การลดภาวะ Burnout ได้นั้น เราจะต้องสร้างชุมชนในองค์กร สร้างกลุ่มพนักงาน และปฏิสัมพันธ์กันระหว่างพนักงานในทีมงานให้ได้ แม้ว่าเราจะมีการทำงานที่บ้าน แต่การสื่อสาร การเชื่อมโยงถึงกัน การมีปฏิสัมพันธ์กันนั้น เป็นสิ่งที่ช่วยลดความเครียดในการทำงานของพนักงานลงได้ ถ้าเขาอยู่กับเพื่อนร่วมงานที่ดี เข้าใจกัน มีนายที่ดี มีเหตุผล
ลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของเราดูนะครับ เราไม่ควรจะรอให้พนักงานของเราเกิดภาวะ Burnout ก่อน แล้วค่อยมานั่งคิดหาทางแก้ไข ซึ่งอาจจะไม่ทันเวลาแล้วก็ได้ครับ
ใส่ความเห็น