ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานในองค์กร

มีผู้บริหาร และผู้จัดการฝ่ายบุคคลสงสัยว่า เราจะสามารถวัดคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานของเราได้บ้างหรือไม่ เพราะทางผู้บริหารกลุ่มนี้มีความเห็นว่า การสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน รวมถึงการสำรวจความผูกพันของพนักงานนั้น หลายๆ ครั้งที่ได้รายงานผลการสำรวจมา ก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า มันสะท้อนคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานของเราได้อย่างชัดเจน

ทาง CIPD ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการบริหารทรัพยากรบุคคลของประเทศอังกฤษ ได้วางแนวทางในการวัดคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานไว้ ซึ่งเขาใช้ชื่อว่า CIPD Good Work Index ก็คือ เป็นดัชนีที่บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานในองค์กร และเขาก็ใช้ดัชนีเหล่านี้ในการชี้วัดคุณภาพการทำงานขององค์กรต่างๆ ในประเทศอังกฤษอยู่ ณ ปัจจุบัน ก็เลยนำเอาแนวทางของเขามาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นแนวทางในการนำไปใช้กำหนดตัวชี้วัดผลงานของทางฝ่ายบุคคลเอง หรือ เป็นตัววัดคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานในองค์กรของเราได้บ้าง

อ้างอิงจาก CIPD Good work Index ได้ระบุคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน ไว้ว่าจะต้องประกอบไปด้วย 7 ประการดังนี้

  • ค่าตอบแทน และสวัสดิการ พนักงานที่เข้าสู่ระบบการจ้างงาน หรือมนุษย์เงินเดือนทุกคน ล้วนต้องการค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี ดังนั้น ถ้าองค์กรสามารถให้ค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ และมีระบบสวัสดิการที่ส่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานได้ดี ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานดีขึ้นได้
  • สัญญาจ้างงาน จะต้องมีความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบพนักงาน เป็นสัญญา และการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และบริษัทก็จะต้องดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยเช่นกัน ไม่เอาเปรียบพนักงาน โดยการเลี่ยงกฎหมาย หรือหาช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อทำให้นายจ้างได้เปรียบในการจ้างงาน
  • Work-Life Balance ในยุคนี้สภาพแวดล้อมในการทำงานจะต้องเอื้อให้พนักงานสามารถที่จะบริหารจัดการสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงานได้อย่างดี เรียกได้ว่า ชีวิตส่วนตัวและงานนั้น แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้เลยในยุคนี้ ดังนั้นถ้าองค์กรสามารถที่จะส่งเสริมในเรื่องของ Work Life Balance ได้ ก็จะทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตของการทำงานที่ดีขึ้นได้
  • การออกแบบงาน ลักษณะของการทำงาน องค์กรจะต้องออกแบบลักษณะงานให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของพนักงาน ปัจจุบันนี้งานซ้ำๆ ทำซ้ำๆ วนไปมา ฯลฯ ก็จะใช้ AI หรือ หุ่นยนต์เข้ามาช่วยมากขึ้น ส่วนพนักงานก็จะได้รับงานที่มีความท้าทาย งานที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าเราสามารถออกแบบงานให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของพนักงานได้ พนักงานก็จะรู้สึกว่าได้ทำงานที่มีความหมาย ซึ่งก็จะทำให้คุณภาพชีวิตในการทำงานดีขึ้นได้
  • สัมพันธภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา จะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีบรรยากาศในการทำงานร่วมกันที่ดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ด้วยบรรยากาศดีที่ก็จะทำให้พนักงานอยากมาทำงานทุกวัน ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในการทำงานได้เช่นกัน
  • รับฟังความเห็นของพนักงาน พนักงานทุกคนล้วนต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และพนักงานเองก็ต้องการที่จะบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อเรื่องต่างๆ ในองค์กร อยากให้ผู้บริหารใส่ใจในความเห็น และความรู้สึกของพนักงานด้วย
  • สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี เรื่องสุดท้ายก็คือ องค์กรต้องใส่ใจในสุขภาพกายและสุขภาพใจของพนักงานทั้งในการทำงาน และนอกงาน ควรจะมีการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพใจ และกาย ส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพจิต และสุขภาพกายที่ดี มาทำงานแล้ว ร่างกายและจิตใจแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เครียด ไม่หมดพลัง และเหนื่อยล้าจากการทำงาน

ก็คงต้องนำไปปรับใช้อีกครั้งครับ อาจจะมีการดัดแปลงเพิ่มเติมมุมมองต่างๆ เข้าไป เพื่อทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบไทยๆ รวมทั้งถ้าเราจะเอา Index นี้ไปใช้วัดจริงๆ ก็คงต้องมีการออกแบบคำถามในการประเมินให้เหมาะกับลักษณะการทำงานในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: