Covid 19 มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างไรบ้าง

จากระยะเวลา 1 ปีเต็มๆ ที่ผ่านมากับสถานการณ์โควิด 19 จะเห็นได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ถ้าเรามองแค่เพียงการบริหารทรัพยากรบุคคล และการบริหารจัดการการทำงานของคนในองค์กร เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ก็มีผลต่อการทำงานและการวางระบบการทำงานในอนาคตขององค์กรด้วยเช่นกัน

เรามาดูกันว่า มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้เกิดผลกระทบต่ออนาคตการบริหารทรัพยากรบุคคลบ้าง

  • เวลาและสถานที่ในการทำงาน โควิด 19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้ผู้บริหารและฝ่ายบุคคลต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องของวิธีการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งสถานที่ในการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในบริษัทอีกต่อไปในบางธุรกิจ จากเดิมมีข้อมูลจากผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในเรื่องของการที่พนักงานพยายามที่จะเรียกร้องการทำงานจากที่บ้าน หรือการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งองค์กรเองก็ยังชั่งใจ และยังพิจารณากันอยู่ แต่พอโควิด 19 เข้ามา ก็เลยทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติได้เร็วมากขึ้น และทำให้ผู้บริหารหลายคนที่ไม่เคยเชื่อเรื่องของการทำงานจากที่บ้าน เริ่มเปลี่ยนความคิดของตนเองไป บางคนนำเอามาเป็นนโยบายหลักที่จะใช้ต่อเนื่องต่อไปแม้ว่า โควิดจะจบแล้วในอนาคตก็ตาม ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ ก็ทำให้ฝ่ายบุคคล จำเป็นต้องคิด และวางระบบการบริหารจัดการคนขององค์กรให้สอดคล้องกับระบบงานแบบนี้มากขึ้น
  • คิดใหม่เรื่องสถานที่ทำงาน จากเดิมที่ผู้บริหารคิดเหมือนกันหมด ก็คือ งานจะต้องมาทำที่บริษัท ไม่สามารถที่จะไปทำที่อื่นได้ และไม่เคยเชื่อว่า งานจะสามารถไปนั่งทำที่ไหนก็ได้ โควิด 19 เข้ามา ก็ทำให้เราเห็นว่า การทำงาน (ในบางงาน) สามารถที่จะทำจากที่ไหนก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลลัพธ์ และประสิทธิผลของงาน ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการนั่งทำงานที่บริษัทเลย บางคนสามารถทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป เพราะไม่จำเป็นต้องเหนื่อยจากการเดินทางไปกลับบริษัท ซึ่งก็สามารถเอาเวลานั้นมาใช้ทำงานได้มากขึ้นกว่าเดิม จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเห็นองค์กรบางแห่ง ประกาศออกมาเลยว่า จะปรับออฟฟิศให้เล็กลง เลิกเช่าบางแห่ง ให้เหลือแค่เพียงบางแห่งไว้ แม้ว่าในบ้านเราอาจจะยังไม่เห็นว่าจะมีการประกาศยกเลิกออฟฟิศ แต่ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านนี้อย่างชัดเจน
  • ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงานมากขึ้น ในระยะเวลาของโควิด19 ที่ผ่านมานั้น พนักงานแทบจะทุกระดับขององค์กรพูดและบ่นเหมือนกันว่า เครียดมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ทั้งๆ ที่บางคนบอกว่า ก่อนหน้านี้การทำงานก็เครียดอยู่แล้ว แต่พอมาเจอกับโควิดด้วย ยิ่งทำให้การทำงานเกิดข้อจำกัด เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดความกดดัน และความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น จนทำให้พนักงานส่วนใหญ่เกิดอาการเครียดสะสม บางคนรู้ตัว บางคนไม่รู้ตัว เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในนโยบายด้านสวัสดิการของพนักงานในหลายๆ บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วงนี้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตของพนักงาน การบริหารความเครียด การจัดการกับภาวะ Burnout ของพนักงาน ฯลฯ องค์กรมากมายที่จัดนโยบายในการพูดคุยกับจิตแพทย์ให้กับพนักงานอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและรักษาความเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ผลก็คือ อนาคตองค์กรต่างๆ ก็มีแผนงานที่จะบรรจุเรื่องของการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานเข้าไปในระบบสวัสดิการของบริษัทอย่างเป็นทางการ
  • มีทักษะใหม่เกิดขึ้นในการทำงานแบบ Virtual ช่วงเวลาโควิดที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ และพนักงาน ได้รู้จักการทำงานแบบใหม่ ที่ไม่ต้องเจอหน้ากันจริงๆ แต่เจอกันใน VDO การประชุมผ่าน VDO Call การเรียนหนังสือแบบ online การติดตามงานกันแบบ Virtual การใช้ platform แปลกๆ ใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกัน เกิดขึ้นในช่วงนี้มากมาย พนักงานทุกคนได้เรียนรู้ทักษะในการทำงานเหล่านี้มากขึ้น ผู้บริหารหลายคนที่ไม่เคยคิดว่าการประชุมออนไลน์จะได้ผล ก็มาเห็นผลลัพธ์แล้ว ติดใจ เริ่มคิดและวางแผนการทำงานกันแบบ online กันมากขึ้น แม้ว่าในอนาคตโควิด19 จะหมดไป หรือดีขึ้น แต่นโยบายของหลายองค์กรก็ออกมาชัดเจนแล้วว่าจะดำเนินนโยบายแบบ Virtual Working ในแบบนี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งแปลว่า ฝ่ายบุคคล ก็คงต้องมีการวางระบบ ระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะการทำงานแบบนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งมีโปรแกรมในการพัฒนาพนักงานเพื่อให้เกิดทักษะในการทำงานแบบใหม่นี้ให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะในการวางแผน การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติขององค์กรต่างๆ การใส่ใจในสุขภาพของตนเองของพนักงานที่มีมากขึ้น การดูแลเรื่องของความสะอาด ซึ่งก็ถือว่า เป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตการทำงานในปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่คิดว่าดี ทำให้มีผลที่ดีตามมา ก็น่าจะทำให้เป็นระบบอย่างต่อเนื่องในระยะยาวต่อไป ก็น่าจะดีกว่าปล่อยทิ้งไปโดยไม่เห็นคุณค่าของมัน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: