ช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้รับคำถามเพื่อสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารองค์กร และผู้จัดการฝ่ายบุคคลขององค์กรต่างๆ ว่า พอจะมีข้อมูลแนวโน้มว่า หลังสถานการณ์โควิดจบลง หรือ สามารถควบคุมได้ดีขึ้นแล้ว มีบริษัทสักกี่แห่งที่จะยังคงให้พนักงานทำงานที่บ้านต่อไป หรือ ให้พนักงานกลับมาทำงานที่บริษัทเหมือนเดิม หรือจะผสมผสานกันอย่างไรดี
ผมเคยได้ให้ข้อมูลผลการสำรวจไปในบทความเก่าที่ผ่านมาว่า แนวโน้มมีบริษัทที่จะให้พนักงานทำงานแบบผสมผสานกันมากกว่า เพราะน่าจะเหมาะสมกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี ก็มีอีกหลายบริษัทที่ยืนยันมาแล้วว่า จะให้พนักงานกลับเข้าทำงานในบริษัทแบบเดิม 100% แต่ทั้งนี้เขามีการพูดคุยและสอบถามจนได้ข้อสรุปกันแล้ว
วันนี้ผมเอาผลการสำรวจล่าสุดของทาง Harvard Business Review ที่เขียนไว้ในบทความชื่อ Don’t Let Employees Pick Their WFH Days ซึ่งเขียนโดย Nicholas Bloom ได้ทำการวิจัยสอบถามพนักงานที่ทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และเป็นองค์กรข้ามชาติ เช่น Google Citi และ HSBC เป็นต้น ผมอ่านแล้วเห็นว่าน่าสนใจก็เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง
- ผลการสำรวจออกมามีพนักงานจำนวน 32% ที่ตอบว่า เขาไม่ต้องการจะไม่กลับไปทำงานที่บริษัทแบบเต็มเวลาอย่างแน่นอน เพราะสะดวกกว่าที่จะทำงานจากที่บ้าน และเห็นว่าสามารถทำงานได้อย่างมีผลลัพธ์ที่ดีพร้อมกับการดูแลลูกเล็ก และครอบครัวไปด้วยพร้อมกัน อีกทั้งบ้านและสถานที่ทำงานก็ไกลกันพอควร ทำให้เสียเวลาในการเดินทางมากเกินไป จึงคิดว่า การทำงานจากที่บ้านเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
- แต่ก็มีพนักงานจำนวน 21% ที่ตอบว่า เขาไม่ต้องการที่จะทำงานจากที่บ้าน เพราะที่บ้านมีทั้งงานบ้านและมีลูกเล็ก มีคนชรา ที่ต้องดูแล เลยทำให้ไม่สามารถที่จะแบ่งเวลาได้ดี ดังนั้น การแยกสถานที่ในการทำงาน และบ้าน จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะทำให้เขาสามารถโฟกัสกับการทำงานได้มากกว่าที่จะทำงานจากที่บ้าน ซึ่งเคยลองมาแล้ว ปรากฏว่า ไม่ได้ผลงานที่ดีเลย
- มีพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 15% ที่บอกว่า น่าจะผสมผสานกันได้ อาจจะทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 2-3 วัน ได้ จะได้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวของตนเอง
สังเกตได้ว่า เหตุผลเดียวกัน แต่กลับมีมุมมองของการบริหารจัดการตนเองที่แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่า สะดวกดีเพราะดูแลได้ทั้งหมดในเวลาเดียวกันสถานที่เดียวกัน แต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับมองว่า ไม่สะดวกเพราะแบ่งเวลาลำบาก ซึ่งผมคิดว่าก็น่าจะมีเหตุผลทั้งคู่ ด้วยวิถีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ก็ย่อมจะมีวิธีการในการบริหารจัดการครอบครัว และงานที่แตกต่างกันออกไป
ฝั่งผู้บริหาร หรือนายจ้างก็มีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน
- กลุ่มแรกบอกคล้ายๆ กันว่า เขาบริหารพนักงานโดยมองว่าพนักงานของตนมีความเป็นผู้ใหญ่มากพอที่จะบริหารจัดการตนเองได้ ทั้งในเรื่องของงาน และครอบครัว ดังนั้น พนักงานจะทำงานจากที่ไหนเขาก็ไม่ซีเรียส ขอแค่เพียงมีความเป็นผู้ใหญ่ และสามารถส่งมอบผลงานได้ตามที่ตกลงกันไว้ก็เพียงพอ
- แต่กลุ่มที่สองมองตรงกันข้ามว่า ยังมีความกังวลอยู่ว่าถ้าจะให้พนักงานทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อใจพนักงาน แต่มีความเห็นว่า การทำงานจากที่บ้านบางคน และบางคนเข้าบริษัททำงาน จะทำให้การทำงานระหว่างกันมีความไม่สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกัน การประชุม การแสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังกังวลเรื่องของมุมมองของผู้จัดการที่มีต่อพนักงานของตนเองด้วย เพราะยังมีผู้จัดการที่มองว่า พนักงานที่ทำงานจากที่บ้านนั้น อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของความก้าวหน้าในสายอาชีพที่อาจจะช้ากว่าพนักงานที่ทำงานที่ออฟฟิศ เพราะผู้จัดการเห็นภาพการทำงานที่ชัดเจนมากกว่า
- อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ถ้าบริษัทเราให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้เต็มเวลาทั้งหมด แล้วเวลาที่เรารับพนักงานใหม่ที่ยังต้องได้รับการสอนงาน หรือแนะนำงานจากรุ่นพี่ หรือจากหัวหน้า เราจะทำอย่างไร หรือถ้าต้องมีการสอนงานกันอย่างใกล้ชิด หรือ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมนั้น เราจะทำได้อย่างไรบ้าง
จากบทความที่ได้อ่านมานั้น ผมคิดว่า ในประเทศไทยเอง ก็น่าจะเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน และแนวโน้มที่น่าจะเป็นมากที่สุดก็คือ การผสมผสานการทำงานจากที่บ้าน และจากออฟฟิศ ที่เราเรียกกันว่าการทำงานแบบ Hybrid และให้พนักงานเลือกที่จะทำงานจากที่บ้านสัปดาห์ละกี่วัน มาบริษัทกี่วัน
สิ่งที่ผมเคยทำมาในบริษัทที่ปรึกษาของตนเอง ก็คือ เรามีการกำหนดวันที่พนักงานทุกคนจะต้องเขาบริษัททุกคน เช่นของผมจะกำหนดให้ทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ ห้ามทำงานจากที่บ้าน จะต้องเป็นวันที่พนักงานเข้าบริษัท และเราก็จะใช้สองวันนี้ในการประชุม หารือ กันสอนงานกัน พูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมในการทำงานต่อกันได้
และวันที่เหลืออีก 3 วัน ก็ให้เลือกได้ ว่าจะเข้าบริษัทวันไหนอีก 1 วัน เพราะทางบริษัทกำหนดว่าพนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ 2 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น ทั้งนี้ก็ยังสามารถยืดหยุ่นได้อีกใน 3 วันที่เรากำหนดว่าจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งแนวโน้มหลังโควิดซาลง หรือเข้าสู่ภาวะที่ควบคุมได้แล้ว ผมคิดว่า การทำงานน่าจะไม่เหมือนเดิม 100% อีกต่อไป ทั้งนี้ผู้บริหารและฝ่ายบุคคลเองก็คงต้องทำการสำรวจความคิดเห็นจากพนักงาน และดูจากลักษณะของธุรกิจของตนเองว่าสามารถจะบริหารจัดการเรื่องการทำงานจากที่บ้านได้อย่างไรบ้าง แต่อย่างไรก็ดี ความยืดหยุ่นในเรื่องนี้เกิดขึ้นแน่ๆ และก็น่าจะเป็นแนวโน้มของการออกแบบการทำงานแบบยืดหยุ่นสำหรับพนักงานในยุคหลังโควิดอย่างแน่นอน
ใส่ความเห็น