คำว่า Employee Wellbeing มีขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ช่วงแรกๆ เป็นเหมือนแนวคิดที่อาจจะยังไม่ค่อยมีองค์กรใดที่ให้ความสนใจ และให้ความสำคัญมากนัก เนื่องจากในยุคสิบปีที่แล้ว สภาพแวดล้อมในการทำงานอาจจะยังไม่เครียดขนาดทุกวันนี้ การทำงานส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในพื้นที่ของบริษัท ซึ่งบริษัทเองก็มองว่าตนเองก็มีการจัดระบบสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับพนักงานอย่างดีแล้ว
แต่พอมาถึงในยุคนี้ ปีนี้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณต่างๆ เข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคระบาด โควิด19 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การเดินทาง การท่องเที่ยว ระหว่างประเทศแทบจะทำไม่ได้เลย ก็เลยส่งผลต่อพนักงานที่ทำงานในบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนถึงจุดหนึ่งที่มีหลายๆ บริษัทเพิ่มนำเอาแนวคิดทางด้าน Wellbeing มาใช้กันมากขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานให้มีความสุขกาย สุขใจ ตามสมควรที่พอจะจัดให้ได้
ดังนั้นในยุคนี้และอนาคตข้างหน้า เชื่อได้เลยว่า เรื่องของ Employee Wellbeing จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมุมมองของพนักงานเองก็ต้องการให้องค์กรที่เขาจะทำงานด้วยนั้น มีการจัดการในเรื่องเหล่านี้ในระดับที่ดี และยอมรับได้ ก็เลยทำให้ผู้บริหารหลายท่านๆ เกิดความสนใจเรื่องของการทำ Wellbeing มากขึ้น และสงสัยว่า คำว่า Wellbeing นั้นจะต้องมีด้านไหนบ้างถึงจะครอบคลุมได้ในทุกด้านของพนักงาน
อ้างอิงจาก หนังสือเรื่อง Wellbeing ที่เขียนโดย Tom Rath และ Jim Harter เขากำหนด wellbeing ไว้ 5 ด้านหลักๆ ดังนี้
- Career Wellbeing ด้านแรกที่ผู้เขียนเรียงเป็นอันดับหนึ่งก็คือ Career Wellbeing ก็คือ ระบบที่สามารถทำให้พนักงานที่เข้ามาทำงานกับบริษัทรู้สึกได้ว่า ทำงานที่นี่แล้วสามารถเติบโตไปได้ตามเส้นทางความก้าวหน้าสายอาชีพที่ตนต้องการ ดังนั้น ถ้าบริษัทต้องการจะตอบโจทย์ด้านนี้ให้กับพนักงาน ระบบ HR ที่จะต้องสร้างขึ้นมาก็คือ ระบบความก้าวหน้าในสายอาชีพ หรือที่เราเรียกกันว่า Career Path นั่นเองครับ และถ้าเราจะมีระบบ Career Path ที่ดี ระบบที่ต้องดีและต้องมีก่อนก็คือ ระบบการบริหารผลงานที่ดี เพื่อที่จะรู้ได้ว่าพนักงานคนไหนมีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง จะได้วางแผนในการพัฒนาได้ถูกต้อง นอกจากนั้นก็ต้องมีระบบการพัฒนาพนักงานที่แข็งแกร่งอีกด้วย เพื่อที่จะทำให้พนักงานรู้สึกได้ว่า เขาสามารถที่จะพัฒนาไปตามแนวทางเส้นทางอาชีพของเขาได้จริงๆ ดังนั้นพวก Competency และ Training Roadmap รวมถึง IDP ก็จะต้องสร้างขึ้นมาเป็นระบบ เพื่อทำให้พนักงานสามารถเติบโตในการทำงานได้
- Social Wellbeing ปัจจัยด้านที่สองก็คือ Social Wellbeing คือการที่พนักงานเข้ามาทำงานแล้วมีสังคมที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีนายที่ดี ฯลฯ ปกติแล้ว คนที่ทำงานแล้วเข้ากับคนอื่นไม่ได้เลย ทั้งเพื่อนและนาย ปกติก็จะอยู่ทำงานได้ไม่นาน หรือถ้าอยู่ได้ก็จะอยู่ทำงานแบบขอไปที ทำงานแบบซังกะตายไปวันๆ มากกว่า ดังนั้น ถ้าเราจะตอบโจทย์เรื่อง Social Wellbeing ให้ได้ ก็ต้องมีระบบในเรื่องของการสื่อสารในองค์กรที่ดี ทั้งแบบ tob-down และ Bottom-up นอกจากนั้น จะต้องมีการพัฒนาหัวหน้า และผู้จัดการให้สามารถนำทีมงาน สร้างทีมงาน และจัดการกับความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี เพื่อทำให้พนักงานรู้สึกว่ามาทำงานที่นี่แล้ว เขาได้รับการตอบสนองในเรื่องของสังคมการทำงานรอบตัวเขาเป็นอย่างดี
- Financial Wellbeing ปัจจัยด้านที่สาม ก็จะเป็นเรื่องของด้านการเงิน ซึ่งถ้าเรามองในระบบ HR แล้วมันก็คือระบบการบริหารค่าตอบแทนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน หรือไม่เป็นตัวเงิน ดังนั้นถ้าเราจะทำให้พนักงานรู้สึกได้ว่า มาทำงานที่นี่แล้วรู้สึกถึงความมั่นคงทางด้านการเงิน นั่นก็แปลว่า เราจะต้องสร้างระบบ Reward Management ที่แข่งขันได้ และเป็นธรรม ก็ต้องเริ่มกันตั้งแต่การวิเคราะห์งาน เพื่อประเมินค่างานและจัดระดับงานออกมาตามค่างานสำหรับตำแหน่งงานต่างๆ ภายในบริษัท จากนั้นก็ต้องมีการไปหาข้อมูลสำรวจค่าจ้างเงินเดือนที่ตรงกับเรา และนำมาจัดทำเป็นโครงสร้างเงินเดือนที่แข่งขันได้ แล้วก็วางระบบในการขึ้นเงินเดือน ปรับเงินเดือนในกรณีต่างๆ รวมถึงระบบรางวัลตามผลงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโบนัส หรือ Incentive ตามผลงานก็ต้องสร้างให้ชัดเจน
- Physical Wellbeing ปัจจัยด้านที่สี่ จะเป็นเรื่องของความรู้สึกมั่นคงทางด้านกายภาพ ซึ่งก็คือด้านร่างกายของพนักงาน กล่าวคือ มาทำงานแล้วไม่ทำให้สุขภาพเสียหาย แย่ลง รวมทั้งมีระบบที่ส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี อาทิ มีโรงอาหารที่จำหน่ายอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เลือกอาหารและเมนูที่ดีต่อสุขภาพ มีสถานที่ให้ออกกำลังกาย ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิตเนส โยคะ สปา รวมถึงเวลาที่พนักงานเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็มีระบบสวัสดิการที่ดูแลพนักงานอย่างดีเช่นกัน ซึ่งระบบ HR ที่ตอบโจทย์ทางด้านนี้ ก็จะเป็นระบบสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของพนักงานทั้งหมดนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มในอนาคตของสวัสดิการที่ดีที่เขาวิจัยกันก็มุ่งเน้นมาทางสุขภาพของพนักงานมากขึ้น ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
- Community Wellbeing ปัจจัยด้านสุดท้ายก็คือ พนักงานรู้สึกว่าทำงานแล้วมีส่วนที่ทำให้สังคมรอบข้างที่ตนอยู่นั้นดีขึ้นไปด้วย ระบบที่เกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือ เรื่องของ CSR ที่หลายๆ บริษัทปัจจุบันนี้ก็พยายามที่จะสร้างให้มีขึ้น โดยไปช่วยเหลือสังคมในแง่มุมต่างๆ และสนับสนุนให้พนักงานได้มีส่วนในการเข้าไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บางบริษัทถ้าพนักงานจะไปเลี้ยงอาหารกลางวันคนชรา หรือเด็ก บริษัทจะอนุญาตให้ไปโดยที่ไม่ตัดค่าจ้าง และไม่ต้องเสียวันลาใดๆ เพราะถือว่าเป็นการทำเพื่อสังคม และบริษัทเองก็สนับสนุนให้ทำอย่างเต็มใจเช่นกัน
ในบางตำราก็จะมีการแบ่ง wellbeing ไว้ 4 ด้าน อย่างของ Tower Watson ที่มีมุมมองต่อคำว่า Wellbeing อยู่ 4 ด้านก็คือ
- Physical Wellbeing
- Emotional Wellbeing
- Financial Wellbeing
- Social Wellbeing
ซึ่งเราจะเห็นว่า ก็จะไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่สัก แสดงว่า ในเรื่องของ Employee Wellbeing นั้น ก็จะอยู่ในกรอบประมาณนี้ ที่องค์กรสามารถที่จะทำให้พนักงานของเรารู้สึกมีความพึงพอใจ และมีความสุขพอประมาณในการทำงานกับองค์กร
ดังนั้น องค์กรใดที่ริเริ่มที่จะวางระบบ Employee Wellbeing หรือให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้นอย่างจริงจัง ก็คงจะต้องพิจารณาจากเกณฑ์ข้างต้น เพื่อที่จะได้วางระบบของเราให้ครบถ้วนทุกแง่มุมของคำว่า Wellbeing นั่นเอง
ใส่ความเห็น