จากรายงาน People Analytics Study ซึ่งจัดทำโดย World at Work Total Reward Association ในเดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมานั้น มีอยู่หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจมาก ก็คือ หัวข้อที่เขาสำรวจองค์กรต่างๆ ในเรื่องของการปฏิบัติงานทางด้านHR ขององค์กรในด้านต่างๆ ว่าปัจจุบันงาน HR ไหนที่ใช้เวลาในการทำงานมาก เทียบกับนโยบายทางด้านความสำคัญของระบบ HR ในแต่ละด้าน ว่าไปด้วยกันแค่ไหน
ซึ่งผลการสำรวจที่ได้ออกมา จะมีงาน HR Operation บางงานที่หน้างานใช้เวลาในการทำงานเหล่านี้ค่อนข้างมาก ซึ่งสวนทางกับนโยบายความสำคัญที่องค์กรกำหนดไว้ก็มี เราลองมาดูผลการสำรวจกันครับ
งาน HR Operation ที่องค์กรใช้เวลากับมันมาก
- การควบคุมต้นทุนแรงงาน 75%
- การควบคุมงบประมาณในการบริหารทรัพยากรบุคคล 75%
- การรับเรื่องเรียกร้องเบิกจ่ายให้กับพนักงาน 73%
- ดูแลวันหยุด วันลา การขาดลามาสายของพนักงาน 68%
- การดูแลกรณีแรงงานสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในองค์กร 61%
- ดูแลและบริหารจัดการเรื่อง Employee Productivity 36%
งาน HR Operation ที่มีความสำคัญต่อองค์กร และควรจะใช้เวลามาก
- ดูแลและบริหารจัดการเรื่อง Employee Productivity 86%
- การควบคุมต้นทุนแรงงาน 81%
- งาน HR กับการสนับสนุนผลสำเร็จขององค์กร 75%
- การควบคุมงบประมาณในการบริหารทรัพยากรบุคคล 68%
- การดูแลกรณีแรงงานสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในองค์กร 66%
- ดูแลวันหยุด วันลา การขาดลามาสายของพนักงาน 65%
ประเด็นที่เห็นได้จากผลการสำรวจข้างต้น ก็คือ การใช้เวลาจริงในการทำงานปฏิบัติการ HR กับความสำคัญที่องค์กรต้องการจากงาน HR นั้นมันมีบางเรื่องที่สวนทางกันอยู่
เรื่องที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ เรื่องของการดูแล Productivity ในการทำงานของพนักงาน ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ใช้เวลาในเรื่องนี้น้อยมาก กับการดูแล และการสร้างผลงานที่ดีของพนักงานอย่างจริงจัง แต่องค์กรกลับต้องการเรื่องของ Productivity ของพนักงานเป็นอันดับแรก เพื่อให้เกิดผลงานที่ดีกับองค์กร สิ่งที่องค์กรใช้เวลาเยอะกลับกลายเป็นเรื่องของการควบคุมต้นทุนแรงงานขององค์กรมากกว่า ที่จะให้เวลากับการสร้างผลิตภาพจากพนักงานให้สูงขึ้น
อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ องค์กรต้องการให้งาน HR เข้ามามีส่วนในการสร้างและสนับสนุนผลสำเร็จขององค์กร คือ ต้องการให้งาน HR ในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนกำลังคน งานสรรหาคัดเลือก การบริหารผลงาน การบริหารค่าตอบแทน ฯลฯ เหล่านี้ มีส่วนสนับสนุนกลยุทธ์ขององค์กร แต่ในทางปฏิบัติ HR กลับใช้เวลาไปกับการดูแลเรื่องงานงบประมาณเบิกจ่ายของพนักงาน และการดูแลเรื่องการลา การขาดลามาสายต่างๆ ของพนักงานมากจนเกินไป
จากผลสำรวจข้างต้น ผมคิดว่า งาน HR ในประเทศไทยเองก็มีส่วนคล้ายกับผลการสำรวจนี้เช่นกัน กล่าวคือ เรามักจะบอกว่า งาน HR มีส่วนสำคัญในความสำเร็จขององค์กร งาน HR จะต้องเป็นส่วนหนี่งของกลยุทธ์ความสำเร็จขององค์กร แต่เวลาปฏิบัติงานจริง กลับกลายเป็นว่าเราไปใช้เวลากับเรื่องของงาน Admin มากจนเกินไป หลายองค์กรมัวแต่ไปใช้เวลากับเรื่องของระเบียบข้อบังคับต่างๆ ทางด้านกฎหมาย เช่น การขาดงาน การลา การลงโทษพนักงาน ฯลฯ แทนที่จะเขียน และศึกษาเรื่องนี้ให้ดีตั้งแต่แรก และกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนกันก่อนตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการตั้งองค์กร เราใช้เวลากับงานเหล่านี้ จนงาน HR กลายเป็นงาน Admin เหมือนเดิม และแทบจะไม่มีส่วนไหนที่เข้าไปแตะงานกลยุทธ์ขององค์กรเลย
แต่องค์กรที่ HR เป็นงานเชิงกลยุทธ์ก็มีเกิดขึ้นแล้วในบ้านเรา องค์กรเหล่านี้เขาใช้ระบบใช้ Platform ต่างๆ ในการบริหารจัดการงาน HR Admin โดยไม่ต้องใช้เวลาในเรื่องนี้มาก เพราะระบบช่วยทำงานด้านนี้ให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการ ขออนุมัติลาต่างๆ การมาทำงาน การขอเบิกจ่ายสวัสดิการต่างๆ ฯลฯ ทำโดยระบบทั้งหมด ส่วนคนที่ทำงาน HR ก็จะใช้เวลาในการวางแผนและบริหารจัดการงาน HR ในมุมของกลยุทธ์ เพื่อให้งาน HR ไปสนับสนุนกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างเต็มที่
ใส่ความเห็น