บทความเมื่อวานนี้ได้กล่าวถึงสาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้นในการทำงานของพนักงาน ซึ่งองค์กรเองก็ควรจะต้องใส่ใจ และมีมาตรการในการระบุสาเหตุ และวางแนวทางในการลดความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นแล้วให้ได้ เนื่องจากความเครียดในการทำงานนั้น ส่งผลต่อสุขภาพของพนักงาน และสุขภาพของพนักงานที่ไม่ดี ก็จะนำไปสู่ผลงานของพนักงานที่ออกมาไม่ดีด้วยเช่นกัน
มีผู้บริหารหลายท่านที่ให้ความสนใจในเรื่องของการบริหารจัดการความเครียดของพนักงาน ก็มีข้อสงสัยว่า เราจะมีแนวทางในการระบุ หรือ หาสาเหตุความเครียดของพนักงานในองค์กรของเราได้อย่างไร รวมทั้งมีแนวทางในการที่จะลดความเครียดที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง
ก็เลยนำเอาแนวทางในการระบุหาสาเหตุของความเครียด และแนวทางในการลดความเครียดที่องค์กรทั่วไปเขาทำกันว่ามีวิธีการอย่างไรบ้างมาแชร์ให้อ่านกัน ซึ่งแนวทางที่นำมาเขียนในวันนี้ก็มาจากประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาส่วนหนึ่ง ประกอบกับงานสำรวจแนวทางที่องค์กรต่างๆ นำมาใช้ในต่างประเทศ ซึ่งมาจากเว็บไซต์ CIPD เช่นเคยครับ
แนวทางในการระบุและหาสาเหตุของความเครียดของพนักงาน
- สำรวจจากพนักงาน วิธีแรกที่นิยมใช้กันเป็นปกติทั่วไป ก็คือ การสำรวจความคิดเห็น ความรู้สึก ของพนักงานโดยตรงว่า ในการทำงานปกตินั้น จะมีสาเหตุอะไรบ้างที่จะส่งผลทำให้พนักงานเกิดความเครียดในการทำงานได้บ้าง โดยแบ่งการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งจะสำรวจกับพนักงานทุกคนเลยก็ได้ หรือจะสุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของพนักงานทั้งหมดได้ และเพิ่มเติมโดยการทำ Focus Group กับกลุ่มพนักงานเพื่อพูดคุยกันในรายละเอียดมากขึ้น ก็จะทำให้เราได้สาเหตุที่ทำให้พนักงานเกิดความเครียดในการทำงานได้
- สังเกตจากบรรยากาศในการทำงาน วิธีการในข้อนี้ อาจจะใช้ประกอบกับวิธีการในข้อแรกได้ ก็คือ ผู้บริหาร และผู้จัดการทุกคน อาจจะต้องมีการรายงานในที่ประชุมประจำเดือนว่า ที่ผ่านมาบรรยากาศในการทำงานของหน่วยงานตนเองนั้นเป็นอย่างไร พนักงานรู้สึกอย่างไรกันบ้าง มีพนักงานคนไหนที่ลาบ่อย หรือ ทำงานผลงานแย่ลงกว่าที่เคยเป็น หรือ เริ่มมีการลาป่วยบ่อยมากขึ้น ฯลฯ สัญญาณเหล่านี้ จะเป็นตัวบอกถึงความเครียดในการทำงานของพนักงานได้ เพียงแต่ ผู้จัดการและผู้นำขององค์กรต้องพัฒนาตนเองให้สามารถรับสัญญาณเหล่านี้ได้เร็ว
- ประเมินโดยนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก หลายองค์กรนอกจากสำรวจด้วยตนเองแล้ว ก็อาจจะมีการเชิญนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาทำการทดสอบ และสำรวจจากพนักงานอีกครั้งหนึ่ง เพราะในบางกรณี พนักงานเองอาจจะไม่รู้สึกว่าตนเองเครียดเลย แต่ภายในจิตใจของพนักงานคนนั้นกำลังสะสมความเครียดอยู่โดยไม่รู้ตัว
แนวทางในการป้องกันความเครียดอันอาจเกิดขึ้นจากการทำงาน
- Employee assistance program หลายองค์กรมีการจัดให้มีโปรแกรมในการช่วยเหลือพนักงานในเรื่องของความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เช่น การพูดคุยกับนักจิตวิทยา หรือผู้ที่สามารถให้คำปรึกษาแก่พนักงานได้ในเรื่องนี้ได้อย่างปลอดภัย และเป็นความลับ หรือมีการจัดสวัสดิการให้พนักงานสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ โดยบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ เป็นต้น
- ฝึกอบรม Stress Management องค์กรสามารถเชิญวิทยากร หรือนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญ มาอบรมพนักงานในองค์กรของเรา ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของความเครียด และวิธีบริหารจัดการจิตใจของตนเองเวลาที่เกิดความเครียด รวมทั้งแนวทางในการผ่อนคลายตนเอง และดึงตัวเองกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
- โปรแกรมฝึกจิตใจของตนเองให้เข้มแข็ง ปัจจุบันองค์กรทั่วโลกต่างก็ยอมรับในเรื่องของการฝึกจิตให้มีพลัง ดังนั้น หลายองค์กรก็จะมีการให้พนักงานได้ฝึกสมาธิ เพื่อฝึกสติ ฝึกจิตใจของตนเองให้มีความเข้มแข็ง อาจจะไม่ถึงขั้นปฏิบัติธรรม แต่เป็นการฝึกสมาธิและควบคุมจิตใจของตนเองให้กลับมามีพลังได้
- ฝึกอบรมกลุ่มผู้จัดการ และผู้บริหารในเรื่องการจัดการความเครียด ในประเด็นนี้จะเป็นการฝึกอบรมให้กลุ่มผู้จัดการและผู้บริหารขององค์กรสามารถจัดการกับความเครียดของตนเองได้ก่อน จากนั้นก็จะมีการฝึกอบรมให้สามารถที่จะบริหารจัดการความเครียดของพนักงานที่อยู่ภายใต้การดูแลได้ เนื่องจากสาเหตุที่พนักงานเครียดส่วนหนึ่งก็มาจากเจ้านาย หรือผู้บริหารระดับสูงด้วยเช่นกัน
- เปลี่ยนแปลงบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หลายองค์กรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบรรยากาศทางกายภาพของสถานที่ทำงาน การจัดออฟฟิศ การจัดโต๊ะ และสถานที่ทำงานใหม่ ให้โปร่งโล่ง สบายตา บางแห่งมีการเปิดเพลงคลอเบาๆ ระหว่างทำงานได้ หรืออนุญาตให้พนักงานสามารถฟังเพลงไปในระหว่างการทำงานได้โดยใช้หูฟังส่วนตัว ฯลฯ
- จัดกิจกรรมเพื่อลดความเครียด บางองค์กรมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้พนักงานได้ลดความเครียดลงบ้าง โดยจัดในเวลางานปกติ เช่น ทุกวันศุกร์สิ้นเดือน จะมีการจัดกิจกรรมกันในช่วงบ่าย ที่ให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ได้ อาทิ การนวดผ่อนคลาย กิจกรรมโยคะ การทำขนม การทำอาหารง่ายๆ ร่วมกัน การฟังเรื่องราวดีๆ จากผู้มีประสบการณ์ จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ฯลฯ เพื่อทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด และความกดดันในการทำงานบ้าง
อย่าลืมนะครับว่า ความเครียดในการทำงานนั้น มีผลกระทบหลายอย่าง ทั้งตัวพนักงานเอง และทั้งผลงานของพนักงาน และองค์กร อีกทั้งความเครียดนั้นมันติดต่อกันได้ง่ายมาก ถ้าเราไม่บริหารจัดการให้ดี โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่สภาพแวดล้อมในการทำงาน การแข่งขันอันดุเดือน สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ มันรุมเร้าเข้ามาทุกด้าน จนทำให้พนักงานเกิดความเครียดกันได้ง่าย
วันนี้ท่านบริหารจัดการความเครียดของตนเองแล้วหรือยัง
ใส่ความเห็น