3 สาเหตุหลักของภาวะ Burnout และวิธีเอาชนะภาวะ Burnout อย่างได้ผล

แม้ว่าความเหนื่อยล้า และอาการหมดพลังใจ พลังกาย (Burnout) จะมาจากการทำงานที่เราต้องเจอกับความเครียดจากงานซ้ำ ๆ และแม้ว่าองค์กรเอง อาจจะมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยพนักงานไม่ให้เกิดอาการนี้ก็ตาม ตัวพนักงานเองก็มีส่วนสำคัญในการที่จะดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานด้วยเช่นกัน

จากหนังสือชื่อ Beating Burnout ของ Harvard Business School ได้สรุปสาเหตุของการอาการ Burnout ไว้ว่า มาจากสาเหตุหลัก ๆ อยู่ 3 ประการนี้

  • Exhaustion เกิดจากภาวะเหนื่อยล้า ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ของพนักงานที่มาจากการทำงาน ซึ่งเกิดเหตุซ้ำ ๆ มายาวนานพอที่จะทำให้พนักงานหมดพลัง ความเหนื่อยล้าเหล่านี้ อาจจะมีสาเหตุมาจาก การที่ต้องรับผิดชอบงานที่ยากมาก ท้าทายมาก รวมทั้งงานที่มีปริมาณมากขึ้น แต่เวลาสั้นลง จนทำให้พนักงานเกิดความกดดันในการทำงานอย่างต่อเนื่อง หรือ ถ้าเป็นทางด้านจิตใจ ก็คือ เกิดการการถูกกดดันจากนาย จาก ลูกน้อง และคนรอบข้างในที่ทำงานมากจนเกินไป โดยที่ไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด

  • Cynicism เกิดจากความรู้สึกที่ถูกทำให้แปลกแยกในการทำงาน ไม่ได้รับความใส่ใจจากทั้งนาย ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงาน จนทำให้พนักงานรู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน หรือขององค์กร เช่น พนักงานนำเสนองานให้นาย แต่นายทำเป็นไม่รู้เรื่อง แบบนี้บ่อย ๆ หรือมีข้อเสนอแนะดี ๆ ในการทำงาน แต่กลับถูกเพื่อนร่วมงานต่อต้านอย่างไร้เหตุผล หรือทำงานไปโดยที่ไม่ได้รับการสื่อสาร หรือพูดคุยอะไรจากหัวหน้าของตนเอง เหมือนถูกทิ้งให้ทำงานคนเดียว โดยไม่มีการติดตามงาน Feedback หรือสอบถามอะไรเลย เมื่อเจอกับเหตุการณ์แบบนี้นาน ๆ เข้า พนักงานก็จะเกิดอาการ Burnout ได้

  • Inefficacy เกิดจากความรู้สึกว่าตนเองขาดความรู้ความสามารถที่จะทำงานให้สำเร็จได้ เวลาที่ได้รับมอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้น หรือปริมาณมากขึ้น ก็มักจะเกิดความกังวลว่า ตนเองไม่สามารถที่จะทำมันได้สำเร็จอย่างแน่นอน จนกระทั่งสะสมมากขึ้นจนเกิดความเครียด และนำพาไปสู่ภาวะหมดไฟ หมดพลังในการทำงานในที่สุด

เมื่อเรารู้ว่าสาเหตุหลักของภาวะ Burnout เกิดจากอะไรแล้ว สิ่งที่องค์กรช่วยก็ต้องพิจารณาจากสาเหตุหลักเหล่านี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ตัวพนักงานเองก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีการในการแก้ไข และผ่อนคลายตัวเองเพื่อลดอาการเครียดลงให้ได้ วิธีการที่เราสามารถทำได้เองก็คือ

  • จัดสรรเวลาในการดูแลตัวเองใหม่ กล่าวคือ อย่ามัวแต่หมกตัวอยู่กับการทำงาน ยิ่งอยู่กับงานโดยที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ยิ่งทำให้เราเครียดมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก่อนเลยก็คือ จัดแบ่งเวลาในแต่ละวันใหม่ ว่าเวลาไหนที่จะต้องตั้งใจทำงานอย่างเดียว และทำสักกี่ชั่วโมง จากนั้นก็ต้องจัดเวลาเพื่อการหยุดพักสั้น ๆ สัก 5-10 นาที แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อใหม่ อาจจะเดิน ยืน ยืดเส้นยืดสาย ฟังเพลงสักเพลง หรือ หายใจลึกๆ สัก 1 นาที ฯลฯ การหยุดพักเป็นระยะ ๆ แบบนี้ จะช่วยลดอาการเหนื่อยล้า และความเครียดจากการทำงานลงได้จริงๆ (อันนี้ลองทำกับตัวเองแล้ว)

  • ออกกำลังกายบ้าง การออกกำลังกายเบา ๆ ช่วยลดความเครียดลงได้เช่นกัน ทำงานมาทั้งวัน ในช่วงเย็น ๆ ลองจัดสรรเวลาไปออกกำลังกายเบา ๆ ได้ เช่น เดิน วิ่ง เข้าฟิตเนส หรือ ว่ายน้ำ สัก 30 นาที ให้ได้เหงื่อ จะช่วยทำให้ความเครียดของเราลดลงได้อย่างดี หลายคนที่เกิดภาวะ Burnout เราจะเห็นอย่างชัดเจนเลยว่า เขานั่งอยู่กับโต๊ะทำงานตลอดเวลา ไม่ค่อยได้ลุกไปไหน ขนาดทานข้าวก็ยังเอามาทานไปทำงานไปที่โต๊ะทำงาน บางคนหนักไปกว่านั้นคือ หลับคาโต๊ะทำงานเลยก็มี จากนั้นก็ตื่นมาทำงานต่อ ถ้าเป็นแบบนี้ติด ๆ กัน ยังไงก็เกิดอาการ Burnout อย่างแน่นอน

  • ปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ บ้าง การเปลี่ยนมุมมอง หรือ Reframe ก็สามารถช่วยลดความเครียดของเราลงได้เช่นกัน เวลาที่เราได้รับมอบหมายงานที่ยาก เรามักจะคิดว่า “อีกละ เจอกับงานหินๆ แบบนี้อีกแล้ว” หรือ “อะไร ๆ ก็เรา ไม่เห็นเคยมอบหมายให้คนอื่นทำบ้าง” ฯลฯ ก็ให้เปลี่ยนมุมมองของตัวเองใหม่ ว่า “ดีจัง ได้รับงานที่ท้าทาย เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ” หรือ “นี่เป็นเพราะนายไว้วางใจเรา ก็เลยให้เราทำงานที่ยากขึ้น” เป็นต้น แม้ว่าแรก ๆ อาจจะดูเหมือนโกหกตัวเอง แต่ในทางจิตวิทยาแล้ว นี่คือ การปรับมุมมองของตัวเองใหม่ ที่ทำให้เรามีพลังใจในการทำงาน และฝ่าฟันอุปสรรคได้มากขึ้น ซึ่งก็มีข้อพิสูจน์กันมาแล้วว่าใช้ได้ผล

  • สื่อสารกับคนอื่นบ้าง เวลาที่เราเครียด ปกติเรามักจะเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่ค่อยมีอารมณ์จะไปคุยกับใคร ซึ่งการหมกมุ่นอยู่กับตัวเองแบบนี้ยิ่งทำให้เราแย่มากขึ้นไปอีก ดังนั้น ให้หาคนที่เราสนิท พูดคุยด้วย โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องงานที่เราเครียดอยู่ก็ได้ แต่ขอให้มีการพูดคุย สื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนสนิทของเราบ้าง เช่น ช่วงเวลาหยุดพัก ก็โทรเม้ากับเพื่อนสักหน่อย หรือ ช่วงเที่ยง ก็ชวนเพื่อนไปทานข้าวกัน เพื่อจะได้พูดคุยในเรื่องอื่นบ้าง ด้วยวิธีนี้ ก็จะช่วยบรรเทาอาการเครียด และความกดดันจากการทำงานลงได้เหมือนกัน

  • เปลี่ยนงานใหม่ สุดท้ายถ้าเราทำมาทุกอย่างแล้ว อีกทั้ง องค์กรเองก็ไม่มีมาตรการในการช่วยพนักงานในการลดภาวะเครียดจากการทำงานเลย ก็คงต้องพิจารณาหาช่องทางใหม่ ๆ ในการทำงานบ้างเหมือนกัน งานที่เราทำอยู่คงไม่เหมาะกับเรา เคยมีรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ขยันทำงานมาก เป็นคนที่ทำงานเก่ง มีผลงานที่ดี แต่ไปทำงานกับองค์กรหนึ่ง ซึ่งต้องเร็วมาก ได้รับความกดดันอย่างต่อเนื่อง นายก็เป็นประเภทจิกกัดไม่ปล่อย เน้นงานและความสำเร็จของงาน โดยไม่สนใจว่า พนักงานจะรู้สึกอย่างไร จะเจ็บป่วยอย่างไรเป็นเรื่องของพนักงาน แต่งานต้องเสร็จตามที่ต้องการ สุดท้ายจากที่สนุกกับงานและอาชีพที่ทำ กลายเป็นภาวะเครียดจากสภาพแวดล้อมและผู้บริหารในองค์กร จนเป็นโรคเครียดลงกระเพาะ ผมร่วง นอนไม่หลับ ผวาตื่นกลางดึกทุกคืน น้ำหนักลด ร่างกายทรุดโทรม ฯลฯ สุดท้ายก็ต้องลาออกจากงานไป พอไปทำที่ใหม่ ด้วยตำแหน่งหน้าที่คล้ายๆ เดิม แต่เปลี่ยนสภาพแวดล้อมเปลี่ยนนายใหม่ ทุกอย่างดีขึ้นหมด เหมือนเป็นคนใหม่

ผมก็หวังว่า จะไม่ต้องมาถึงการที่จะต้องเปลี่ยนงานใหม่กันตลอดเวลานะครับ อย่างไรก็ดี ภาวะ Burnout นั้น ถ้าจะป้องกัน และแก้ไข ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งองค์กรเอง ผู้บริหารทุกระดับ รวมถึงตัวพนักงานเองด้วย ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน

ถ้าท่านผู้อ่านมีวิธีการดีๆ ในการลดภาวะเครียดจากการทำงาน ก็สามารถแบ่งปันได้เลยนะครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: