เมื่อวันก่อน เขียนบทความในเรื่องของการที่องค์กรไม่มีงบประมาณในการขึ้นเงินเดือน แต่เราก็สามารถให้รางวัลแก่พนักงานได้ ในลักษณะของรางวัลที่ไม่เป็นตัวเงินได้ ซึ่งก็สามารถสร้างแรงจูงใจ และสร้างความรู้สึกที่ดีแก่พนักงานได้เช่นกัน ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เลยมีท่านผู้อ่านเขียนมาสอบถามว่า แล้วถ้าบริษัทไม่มีงบประมาณในการฝึกอบรมพนักงาน เราจะสามารถพัฒนาพนักงานได้หรือไม่
คำตอบก็คือ ได้แน่นอนครับ
อย่างที่หลายๆ ท่านทราบกันดีว่า การพัฒนาพนักงานนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การฝึกอบรมแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น เวลาที่บริษัทตัดงบประมาณในการฝึกอบรมออกไป เราก็ยังสามารถวางแผนการพัฒนาพนักงานได้ เพียงแต่เราจะต้องเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนา หรือ การอบรมพนักงานเสียใหม่ โดยมุ่งเน้นไปในวิธีการที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ หรือ ใช้น้อยมาก ๆ แทน ส่วนจะมีวิธีใดบ้างนั้น ลองมาดูกันครับ
- อบรมกันเองภายใน วิธีนี้นิยมกันมากที่สุด ก็คือ ให้ผู้จัดการ หรือผู้บริหารที่เก่งในด้านนั้น ๆ มาเป็นวิทยากรภายในองค์กร เพื่ออบรมพนักงาน วิธีนี้พนักงานก็ยังคงได้ความรู้ และทักษะในการทำงาน อีกทั้งยังได้แนวทางในการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะนั้นโดยตรงกับการทำงานด้วย เนื่องจากคนสอนก็คือคนที่ทำงานนั้นอยู่เอง ข้อจำกัดก็คือ ต้องใช้เวลาของผู้สอนที่ต้องปลีกตัวออกจากหน้างาน เพื่อมาสอน รวมทั้งอาจจะต้องมีการพัฒนาทักษะการสอน และการเป็นวิทยากร เพื่อให้การสอนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- Coaching ก็คือ ให้ผู้จัดการทำหน้าที่ coach พนักงานของตนเองมากขึ้น ปกติ ผู้จัดการมักจะส่งพนักงานของตนไปอบรมในเรื่องต่าง ๆ แต่เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการอบรม ผู้จัดการก็เลยจำเป็นต้องเพิ่มเวลาในการสอนงานพนักงานตนเองให้มากขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นการพัฒนาพนักงานได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน เพียงแต่ผู้จัดการจะต้องไปฝึกทักษะในการสอนงานกันก่อน
- Shadowing เป็นวิธีการพัฒนาพนักงานอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องเสียงบประมาณในการอบรม ก็คือ ให้พนักงานไปเรียนรู้งานกับรุ่นพี่ หรือ พนักงานอาวุโสในการทำงานจริงของตำแหน่งงานที่แตกต่างออกไป เช่น ถ้าต้องการให้พนักงานเรียนรู้เรื่องของการให้บริการลูกค้า ก็ให้ไปทำ Job Shadowing กับพนักงานที่ให้บริการลูกค้าจริง ๆ โดยในวันนั้น พนักงานคนนี้ก็จะไปทำงานกับพนักงานอาวุโสคนนี้เสมือนหนึ่งเป็นพนักงานในตำแหน่งนั้นๆ เลย เพื่อเรียนรู้ของจริงในการทำงานกันไปเลย
- Knowledge Sharing เป็นการให้พนักงานที่เก่งในการทำงานนั้น ๆ หรือมีทักษะที่ดีในด้านใดด้านหนึ่ง มาแชร์ความรู้กันในบริษัท เช่น พนักงานที่เก่ง Excel ก็สามารถแชร์ความรู้ในการเขียนสูตรต่าง ๆ ให้กับพนักงานอื่นที่สนใจในเรื่องนี้ได้เช่นกัน การทำ Knowledge Sharing นั้น ยังสามารถทำได้ในลักษณะที่ให้พนักงานคนหนึ่ง ไปอ่านหนังสือ และสรุปมาเป็นประเด็น แล้วนำมาเล่าให้กับเพื่อนๆ หรือ พนักงานในบริษัทฟังได้ วิธีนี้ คนฟังก็ได้ความรู้ คนอ่านก็ได้ แถมยังได้ฝึกทักษะในการนำเสนอและการเป็น Trainer อีกด้วย
- การศึกษาด้วยตนเอง วิธีนี้ อาจจะต้องใช้งบประมาณอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่าการส่งพนักงานไปฝึกอบรม ก็เช่น การมอบหมายให้พนักงานไปอ่านหนังสือเอง การหาบทความดี ๆ มาเผยแพร่ในองค์กร เพื่อให้พนักงานได้อ่านกัน ผู้บริหารไปหาหนังสือดีๆ มาเดือนละ 1 เล่ม แล้วก็มอบหมายให้อ่านกัน แล้วนำมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน หรือ อาจจะเป็นการสมัคร platform e-learning แล้วก็ให้พนักงานสลับสับเปลี่ยนกันเข้าไปศึกษาหาความรู้กัน
บางองค์กรอาจจะมีวิธีการที่ดี ๆ กว่านี้ ก็สามารถแชร์กันได้นะครับ อย่างไรก็ดีเรื่องของการพัฒนาตามแนวทางข้างต้นนั้น จะเห็นว่า ตัวพนักงาน และตัวผู้จัดการจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาพนักงาน เพื่อที่จะได้มีความใส่ใจในเรื่องนี้ กล่าวคือ คนสอน ก็เต็มใจที่จะสอน คนเรียนก็กระตือรือร้นที่จะเรียนและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
บรรยากาศในการเรียนรู้ที่เปิดกว้างของทั้งสองฝ่ายแบบนี้ จะส่งเสริมให้การพัฒนาพนักงานขององค์กรไปได้เร็วกว่า แค่เพียงการส่งพนักงานไปอบรมภายนอก แล้วกลับมาก็ไม่ได้ทำอะไรกับมัน
บางครั้งการเสียงบประมาณการฝึกอบรมมากมาย ก็อาจจะไม่ได้ผลในการพัฒนาพนักงานก็เป็นได้นะครับ
ใส่ความเห็น