กระบวนการที่สำคัญอีกหนึ่งกระบวนการของการบริหารทรัพยากรบุคคลหลังจากที่มีการวางแผนอัตรากำลังคนเรียบร้อยแล้ว ก็คือ การสรรหาคัดเลือกพนักงาน หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Recruitment and Selection ถ้าเป็นสมัยใหม่หน่อย ก็จะเรียกกันว่า Talent Acquisition
ไม่ว่าจะใช้คำอะไรก็ตาม แก่นของกระบวนการนี้ก็คือ การหากลุ่มผู้สมัครที่ตรงที่สุด เพื่อให้ได้จำนวนผู้สมัครที่มากพอ ที่จะเอามาคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ ของงานที่องค์กรต้องการ
ดังนั้นความท้าทายของงานสรรหาพนักงานในยุคนี้ ก็คือ
- เราจะไปหากลุ่มคนที่ตรงกับที่องค์กรต้องการได้จากแหล่งไหน อันนี้เป็นสิ่งที่ HR จะต้องคิด และหาทางให้ได้ เพราะคืองานของเรา หลายคนบอกว่า ก็หากันแบบเดิม ๆ ไม่ได้หรือ เช่น ก็ไปเปิดตัวตามแหล่งตลาดนัดแรงงานตามที่ต่าง ๆ ไปเปิดบูธตามมหาวิทยาลัยเวลาที่มีการจัดงานตลาดนัดแรงงาน ฯลฯ วิธีการเหล่านี้ อาจจะเหมาะกับการสรรหาพนักงานบางกลุ่ม และบางคุณสมบัติเท่านั้น จะใช้วิธีเดียวในการสรรหาทุกตำแหน่งในองค์กรก็คงจะไม่ได้ ดังนั้น HR ในยุคนี้จึงต้องมีการคิด วิเคราะห์ หาวิธีการใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อน เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งข้อมูลผู้สมัครที่ตรง
- สร้างชุมชนของผู้สนใจองค์กร หลายองค์กรใช้การสร้างชุมชน โดยใช้ Platform ทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อให้มีผู้ที่สนใจเข้ามาพูดคุย และรับข่าวสารต่าง ๆ ของทางองค์กร ซึ่งช่องทางนี้จะช่วยทำให้เราได้คนที่สนใจในตัวองค์กรมากกว่า เพราะเขาเข้ามา Subscribe ช่องทางของเราโดยตรง ซึ่งถ้าเราสามารถทำได้ติดตลาดดีๆ ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสรรหาผู้สมัครได้อีกจำนวนหนี่ง
- การสร้าง Network กับแหล่งวิชาชีพต่าง ๆ ความท้าทายอีกด้านหนึ่งของ HR เพื่อให้การสรรหาได้ผล ก็คือ จะต้องสร้างเครือข่ายกับสถาบัน และกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อที่จะร่วมกัน และแชร์ข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการสรรหาผู้สมัคร HR ในยุคนี้ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวเดี่ยว ๆ ได้อีกต่อไป จะต้องมีการเข้าร่วม และมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มวิชาชีพด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ช่องทางใหม่ๆ ยังคงต้องหากันต่อไป ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ท้าทายคนทำงานด้านนี้ก็คือ ต้องคิด และวางกลยุทธ์ทางด้านการสรรหา ให้ทันต่อยุคสมัย ทันต่อเหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ มิฉะนั้นจำนวนผู้สมัครที่จะมาหาเรา มันจะเริ่มลดน้อยลง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนเราไม่สามารถที่จะเอามาคัดเลือกได้เลย
พอสรรหามาได้แล้ว ความท้าทายของการคัดเลือกพนักงานก็คือ
- เราจะใช้วิธีการคัดเลือกอย่างไรบ้าง นี่ก็คือสิ่งที่ HR ต้องคิด และวางแผนรวมทั้งกระบวนการในการคัดเลือกอย่างชัดเจน ไม่ใช่ คิดแค่เพียงว่า ทำตามที่เคยทำกันมาก็พอแล้ว หรือ เลือก ๆ ไปตามความรู้สึกของคนสัมภาษณ์ก็พอแล้ว ฯลฯ งานที่แตกต่างกัน ตำแหน่งที่ต่างกัน ระดับของพนักงานที่ต่างกัน ล้วนแต่ต้องวางแผนวิธีการคัดเลือกที่แตกต่างกันออกไปอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ใช้วิธีการคัดเลือกแบบเดียวกัน กับทุกตำแหน่งขององค์กร
- กำหนดเครื่องมือในการคัดเลือกให้ชัดเจน เช่น การพิจารณาจากใบสมัคร ต้องดูอะไร การให้ทำแบบทดสอบ ต้องทำอะไรบ้าง ตำแหน่งไหนทดสอบอะไร การสัมภาษณ์ ใครที่ต้องสัมภาษณ์ และมีวิธีการสัมภาษณ์อย่างไร เครื่องมือเหล่านี้ก็ต้องคอยปรับปรุง และบำรุงรักษาให้ทันสมัยอยู่เสมอ บางองค์กรใช้เครื่องมือแบบทดสอบ 20 ปีผ่านไป ก็ยังใช้อยู่ บางข้อคำถาม มีประเด็นที่อยู่ในยุค 20 ปีที่แล้วมาสอบถามคนที่จะมาทำงานในยุคนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ HR จะต้องใส่ใจ และปรับปรุงให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ
- ใครจะมาเลือกพนักงานได้บ้าง ประเด็นนี้ก็ท้าทายคนที่เป็น HR เหมือนกัน ในยุคที่แข่งขันกันเรื่องคนแบบสุดๆ แบบนี้ เราคงจะให้ใครก็ได้ มาทำหน้าที่คัดเลือกพนักงานคงจะไม่ได้อีกต่อไปแล้ว คนที่จะมีสิทธิเป็นผู้เลือกผู้สมัครเข้ามาทำงาน จะต้องมีการกลั่นกรอง และวางแผนคัดเลือกคนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราสามารถคัดเลือกพนักงานเข้ามาได้ตรงกับวัฒนธรรมขององค์กร ตรงกับคุณสมบัติของตำแหน่งงาน และสามารถทำงานสร้างผลงานให้กับองค์กรของเราได้อย่างเต็มที่
การสรรหาและคัดเลือก อาจจะถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่นิ่ง ๆ ไม่มีอะไรท้าทาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นด่านหน้าของการคัดเลือกคนที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน ถ้าเราเลือกผิด ผลเสียที่เกิดขึ้นกับองค์กรนั้น มันมหาศาลมาก ต้นทุนในการสรรหาและคัดเลือกต่อคนนั้น ก็มากขึ้นเรื่อยๆ
บางองค์กรเลือกแล้ว รับแล้ว ไม่นาน พนักงานก็ลาออกไป วนเวียนอยู่แบบนี้หลายรอบ สาเหตุก็อาจจะมาจากการที่เราเลือกอย่างรีบ ๆ เร่ง ๆ บางองค์กรเลือกมาแล้ว พนักงานไม่ทำงานเลย และไม่คิดจะลาออกด้วย แบบนี้ก็เลือกผิดอีกเช่นกัน
ดังนั้น อย่ามองข้ามความสำคัญของการสรรหาคัดเลือกพนักงาน จงคิดเสมอว่า เราจะต้องหาวิธีการใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะทำให้เราหากลุ่มผู้สมัครได้ตรง และมีจำนวนมากพอ และมีวิธีการใหม่ๆ ในการคัดเลือกผู้สมัครได้ตรงกับคุณสมบัติขององค์กร
ในยุคนี้ ความคิดที่ว่า เลือกๆ ไปเถอะ เดี๋ยวเขาก็ปรับตัวทำงานกับเราได้เองแหละ” มันใช้ไม่ได้แล้วครับ
ใส่ความเห็น