วันนี้เอานิทานมาให้อ่านพร้อมกัน 3 เรื่องครับ เป็นนิทานและเรื่องราวที่แชร์ต่อๆ กันมาทางหน้า facebook ซึ่งผมไม่สามารถที่จะหาชื่อผู้แต่งที่แท้จริงได้ ถ้าท่านผู้อ่านทราบ รบกวนแจ้งมาได้เลยนะครับ จะได้ให้เครดิตไว้สำหรับเรื่องราวดีๆ แบบนี้ครับ
คนเราทุกคนล้วนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอก ความคิดภายใน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประสบการณ์ การใช้ชีวิต ทัศนคติต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มีความแตกต่าง จนทำให้อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ตีความเหตุการณ์นั้นแตกต่างกันออกไปได้ มันเหมือนกับเราคิดไปเองตามความเชื่อที่มีอยู่ในตัวเรา ลองอ่านดูนะครับ
เรื่องที่ 1
สิงโตกับเสือสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย สุดท้ายทั้งสองต่างเพลี้ยงพล้ำให้แก่กัน ก่อนที่สิงโตจะสิ้นใจ ได้กล่าวกับเสือว่า
“หากท่านไม่คิดฮุบอาณาจักรของข้า เราก็คงไม่ต้องจบชีวิตกันเยี่ยงนี้!”
เสือได้ฟังก็รู้สึกตกใจ
“ข้าไม่เคยคิดฮุบดินแดนของท่าน ข้าเข้าใจว่าท่านจะกำจัดข้าออกจากป่าเสียอีก…!”
การสื่อสาร คือหัวใจของการทำงานในทีม มีอะไรอย่าเก็บไว้ในใจ หรือคาดเดาทึกทักเอาเอง สื่อสารกันให้มาก เพื่อผู้อื่นจะได้เข้าใจเราและลดช่องทางการเข้าใจผิดต่อกันได้อย่างยอดเยี่ยม
เรื่องที่ 2
นกตัวผู้ออกไปเก็บผลไม้มาเก็บไว้ที่รัง อีกกำชับไม่ให้ใครมาขโมย แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงหน้าแล้ง ผลไม้ที่มันหามา ก็เริ่มเหี่ยวเพราะถูกแดดดูดเอาน้ำไปเสียหมด
วันหนึ่ง มันสังเกตว่าปริมาณของผลไม้เริ่มลดน้อยลง มันคิดว่านกตัวเมียขโมยกิน ด้วยความโมโห มันจึงจิกนกตัวเมียตายไปด้วยความโกรธ
และแล้วฝนก็ตกติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ทำให้ผลไม้ที่เหี่ยวแห้งในรัง กลับเต่งตึงอิ่มน้ำดังเดิม เมื่อนกตัวผู้เห็นดังนั้น จึงรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
“ไม่น่าเลย เราไม่น่าเข้าใจผิดเลย!”
เพื่อนร่วมงานและคนในทีมต้องมีความเชื่อมั่นและไว้ใจต่อกัน อย่าปล่อยให้ความลังเลสงสัยทำลายทีมงาน
เรื่องที่ 3
เย็นวันหนึ่ง แพะเชิญหมามากินอาหารค่ำ มันเตรียมหญ้าที่ทั้งสดใหม่ไว้ต้อนรับหมา เมื่อหมามาถึง มันฝืนใจกินหญ้าได้แค่ 2 คำ มันก็กินอีกต่อไปไม่ได้
ผ่านไป 2 วัน หมาก็เชื้อเชิญให้แพะมาทานอาหารเย็นที่บ้านเช่นกัน
หมานึกถึงอาหารที่แพะต้อนรับมันแล้ว ก็คิดในใจว่าจะต้องไม่ขี้เหนียวเหมือนแพะแน่นอน มันจะต้อนรับแพะไม่ให้ขาดตกบกพร่องเหมือนที่แพะทำกับมัน
มันเตรียมกระดูกซี่โครงอย่างดีไว้เต็มโต๊ะ เมื่อแพะมาถึง กลับกินกระดูกไม่ได้แม้แต่คำเดียว!
บางครั้ง สิ่งที่เราชอบคนอื่นอาจจะไม่ได้ชอบตาม อย่าบีบบังคับให้ใครๆ ต้องชอบเหมือนเรา ยามพบเจอกับปัญหา ต้องคิดแทนฝ่ายตรงข้าม เอาใจเขามาใส่ใจเรา คุณจะเข้าใจปัญหาและผู้คนรอบข้างได้มากขึ้น
อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ธรรมชาติของคนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเอง คิดว่าสิ่งที่เรามองเห็น ก็คือสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ได้คิดว่า อีกฝ่าย หรือคนอื่นจะคิด หรือมองแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ดังนั้น ถ้าเราจะบริหารจัดการคนได้ดี เป็นผู้นำที่ดี เราต้องฝึกเข้าในมุมมองของคนอื่นด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะไม่ต่างคนต่างคิดกันไปเอง แล้วก็มีแต่ความขัดแย้งเกิดขึ้นในการทำงาน
ใส่ความเห็น