เมื่อวานนี้ เราได้คุยกันไปถึงความสำคัญของสวัสดิการ และสาเหตุที่องค์กรบางแห่งมักจะลืมให้ความสำคัญกับเรื่องของสวัสดิการพนักงาน บางองค์กร ก็มัวแต่ไปพิจารณาและให้ความสำคัญในเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนจนลืมไปว่า ยังมีเรื่องของสวัสดิการอีกตัวหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้เช่นกัน
วันนี้ก็จะมาต่อในเรื่องของประเด็นสวัสดิการที่สำคัญๆ ซึ่งผมได้ให้คำที่จำง่ายๆ ไว้ 4 คำก็คือ “เกิด จน แก่ ตาย” เพื่อให้ง่ายในการคิดถึงระบบสวัสดิการพื้นฐานของพนักงาน แล้วเราค่อยไปต่อยอดในเรื่องของการทำระบบสวัสดิการให้ยืดหยุ่นในตอนต่อไป
เจ็บ
สวัสดิการด้านนี้ก็คือ เรื่องของสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของพนักงาน ที่เป็นลักษณะของการดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วยของพนักงานในองค์กร ทุกองค์กรมีสวัสดิการประกันสังคมให้กับพนักงานเป็นพื้นฐาน แต่องค์กรที่จัดสวัสดิการด้านนี้เพิ่มเติมให้กับพนักงานก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ
- ให้งบประมาณในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากประกันสังคม ในกรณีผู้ป่วยนอก
- ซื้อประกันสุขภาพให้กับพนักงาน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน
- จัดสวัสดิการป้องกันการเจ็บป่วย อาทิ การออกกำลังกาย ฟิตเนส ฯลฯ
- สวัสดิการในลักษณะโทรหาคุณหมอเวลาที่ไม่สบายได้ โดยไปทำสัญญากับทางโรงพยาบาล
- สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพจิตพนักงาน เช่น ความเครียด ซึมเศร้า ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ฯลฯ
- สวัสดิการด้านการประกันรายได้ เมื่อพนักงานเกิดความเจ็บป่วยและไม่สามารถมาทำงานได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการซื้อประกัน เพื่อให้พนักงานยังคงไม่รายได้ในช่วงที่ตนเองไม่สามารถมาทำงานได้
- ครอบครัวเจ็บป่วย ประกันก็ครอบคลุม
จน
สวัสดิการด้านนี้ก็คือ สวัสดิการด้านการช่วยเหลือเมื่อพนักงานเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของตนเอง อาทิ เมื่อเกิดปัญหาฉุกเฉินต่างๆ เช่น การเกิดภัยพิบัติ ทั้งทางธรรมชาติ และเหตุสุดวิสัย จนทำให้พนักงานไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากขาดที่อยู่อาศัย ขาดเงินทุนบางส่วน ในกรณีแบบนี้ องค์กรก็สามารถจัดสวัสดิการที่ตอบโจทย์เหล่านี้ของพนักงานได้เช่นกัน อาทิ
- เงินกู้ฉุกเฉินให้กับพนักงานในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น โดยไม่คิดดอกเบี้ยใดๆ
- บางองค์กรมีการไปทำข้อตกลงกับทางธนาคาร เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยลง ในกรณีที่พนักงานขององค์กรเข้ามากู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
- สวัสดิการทุนการศึกษาบุตรพนักงาน
แก่
สวัสดิการด้านนี้ก็คือ เมื่อพนักงานมีอายุมากขึ้น หรือ เมื่อถึงวัยเกษียณ องค์กรมีการจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้พนักงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า พนักงานจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุข เมื่อถึงวัยเกษียณอายุ ซึ่งบางแห่งอาจจะมีการจัดสวัสดิการให้กับครอบครัว (พ่อแม่ พนักงาน) ที่มีอายุมากๆ บางองค์กรก็มีสวัสดิการช่วยเหลือให้ อาทิ
- เงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ที่คำนวณต่างหากจากเงินกองทุกสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย
- เงินรางวัลอายุงานสำหรับพนักงานที่มีผลงานดี และอยู่ทำงานกับองค์กรมานาน
- เงินเพิ่มพิเศษในกรณีเกษียณอายุ โดยคำนวณเพิ่มพิเศษให้ ตามจำนวนปีที่อยู่ทำงานกับองค์กร และบวกเพิ่มเข้าไปกับเงินเกษียณอายุ
- ประกันชีวิตที่ครอบคลุมไปจนถึงวันที่เสียชีวิต
ตาย
เป็นสวัสดิการในกรณีที่พนักงานเสียชีวิตในระหว่างที่ทำงานอยู่กับองค์กร ซึ่งองค์กรจัดให้มีเพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัวของพนักงานเพื่อให้พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และต้องปรับตัวใหม่ อาทิ
- ประกันชีวิตให้กับพนักงาน ครอบครัวก็จะได้เงินสินไหมทดแทนไป
- เงินก้อนพิเศษให้กับครอบครัวของพนักงาน
- การจัดงานศพให้พนักงาน
- เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรของพนักงาน (กรณีพนักงานเสียชีวิต) (มีระยะเวลากำหนด)
รูปแบบสวัสดิการที่กล่าวไปข้างต้น ถือว่าเป็นสวัสดิการที่ครอบคลุมชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานในสภาพปกติที่ควรจะเป็น ดังนั้น ถ้าองค์กรต้องการจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับพนักงาน ก็สามารถลองนำเอาแนวทางข้างต้นไปปรับและออกแบบรูปแบบสวัสดิการพนักงานให้สอดคล้องกับช่วงชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานในองค์กรได้
ดังนั้น อย่าให้พนักงานต้อง เจ็บจนแก่ตาย ไปจริงๆ ในขณะที่ทำงานกับองค์กรของเราเลยครับ
ตอนถัดไปเราจะมาต่อกันในเรื่องของแนวโน้มเรื่องการออกแบบสวัสดิการแบบยืดหยุ่น สำหรับองค์กรที่ต้องการจะออกแบบ ว่าจะมีลักษณะอย่างไรกันครับ
ใส่ความเห็น