เมื่อสองวันก่อนได้เขียนบทความเกี่ยวกับการ Reskills/Upskills ไป ก็มีประเด็นคำถามและข้อซักถามมาจากท่านผู้อ่าน ว่าที่องค์กรยังไม่ค่อยเข้าใจสองคำนี้ แถมผู้บริหารยังเข้าใจไปกันคนละทางเลย วันนี้ก็เลยนำมาเขียนให้อ่านกันครับ
คำว่า Reskills/Upskills จะว่าไปก็เป็นอีก 2 คำใหม่ที่เกิดขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความหมายลึกๆ ก็ยังคงหมายถึงการพัฒนาพนักงานนั่นแหละครับ เพียงแต่ เป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดหน่อยๆ พัฒนาแบบเปลี่ยนทักษะกันพอสมควร เมื่อเทียบกับทักษะเดิมที่มีอยู่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก จนความรู้ และทักษะบางเรื่องในปัจจุบันที่พนักงานมีอยู่นั้น มันไม่สามารถนำมาใช้ในการทำงานได้อีกต่อไป
การ Reskills/Upskills ก็เลยต้องเกิดขึ้น
แต่ด้วยคำนี้เวลาที่มีการพูดกัน มักจะไปเชื่อมโยงกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เลยเกิดอาการเข้าใจแตกต่างกันไปในหลายทาง บางคนก็เข้าใจไปอีกแบบ บ้างก็มองไปอีกทาง ก็เลยนำมาสรุปให้อ่านกันว่า มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปอย่างไร และเราควรจะมองอย่างไรกับสองคำนี้
- มองว่า Reskills/Upskills คือ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ รวมถึงทักษะทางดิจิตอลต่างๆ ให้กับพนักงานเท่านั้น ถามว่ามองแบบนี้ผิดหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ผิด แต่ยังไม่กินความของคำว่า Reskills/Upskills ทั้งหมด ลึกๆ แล้ว ไม่ได้เน้นไปที่ความรู้และทักษะในด้านนี้เพียงอย่างเดียว การ Reskills/Upskills นั้น กินความไปได้ถึงการพัฒนา Soft Skills ในด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ทักษะในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ทักษะในการบริหารจัดการคน ทักษะในการสื่อสาร ทักษะในการบริหารการเปลี่ยนแปลง รวมถึงภาวะผู้นำ เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป คนทำงาน ก็ต้องมีทักษะที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน
- มองว่า Reskills/Upskills คือการเรียนรู้online อันนี้ก็เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่ง การพัฒนาพนักงานมีได้หลายรูปแบบและหลายแนวทาง การเรียนผ่านออนไลน์ เป็นแค่เพียงหนึ่งในแนวทางในการพัฒนาเท่านั้น และสองคำนี้ ก็ไม่ได้หมายถึงรูปแบบการพัฒนา แต่หมายถึงการที่เราต้องลงมือพัฒนาเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ความรู้และทักษะในการทำงานที่มีอยู่ โดยจะใช้เครื่องมือในการพัฒนาอย่างไรก็ได้ ให้เหมาะสมกับเรื่องราวที่จะพัฒนา
- มองว่า Reskills/Upskills เหมาะกับบริษัท start-up เท่านั้น ก็เลยทำให้บริษัทใหญ่ๆ บางแห่ง ไม่สนใจ เพราะมองว่า ตนเองมีระบบการพัฒนาพนักงานอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องของการ Reskills/Upskills นั้นสามารถใช้กับองค์กรในทุกขนาด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรดั้งเดิม หรือแบบ Start-up ของเพียงแค่เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในอนาคตที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นองค์กรที่มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดวิธีการบริหารจัดการใหม่ ใช้เครื่องมือในการทำงานแบบใหม่ ฯลฯ ถ้ามีสิ่งเหล่านี้ ซึ่งพนักงานยังไม่ค่อยคุ้นเคย หรือไม่เคยมีทักษะในการทำงานแบบใหม่มาก่อน ก็มีความจำเป็นที่จะต้อง Reskills/Upskills
ดังนั้นการ Reskills/Upskills จึงเป็นการพัฒนาพนักงานที่เน้นไปในความรู้ทักษะใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายบุคคบ และผู้บริหารจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณากันอย่างละเอียดในแต่ละด้านคือ
- องค์ความรู้ มีความรู้อะไรบ้างขององค์กรที่วันนี้มันล้าสมัยไปแล้ว แต่พนักงานยังคงใช้ความรู้นั้นในการทำงานอยู่ทุกวัน อันนี้ก็มีความเสี่ยงต่ออนาคตการทำงาน หรือ มีความรู้อะไรบ้างที่กำลังจะล้าสมัยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เราก็ต้องวางแผนปรับเปลี่ยนกัน หรือ มีความรู้อะไรที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน แต่เราต้องรู้เพื่อให้องค์กรไปสู่เป้าหมายได้ ก็ต้องนั่งคิดนั่งทำกัน
- ทักษะในการทำงาน เช่นกันกับเรื่องทักษะในการทำงาน เราก็ต้องพิจารณากันให้ชัดเจนเลยว่า ทักษะและความชำนาญในด้านใดของพนักงานที่ล้าสมัย ที่กำลังจะล้าสมัย และที่ยังไม่เคยมี และจำเป็นต้องพัฒนาให้มีให้ได้
- พฤติกรรมในการทำงาน เรื่องนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เรามีพฤติกรรมในการทำงานอะไรบ้างที่ไม่ต้องใช้แล้ว หรือที่ต้องเปลี่ยนแปลง เช่น การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง หรือ การเข้าใจมุมมองของคนอื่น ฯลฯ ทั้งนี้ก็อยู่ที่เป้าหมาย และวิธีการทำงานขององค์กรในปัจจุบันและอนาคต
นี่คือ 3 สิ่งที่องค์กรจะต้องพิจารณาให้ชัดเจนในการ Reskills/Upskills แล้วค่อยไปพิจารณาหาเครื่องมือ และรูปแบบวิธีการในการเรียนรู้พัฒนาว่า จะต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ให้เหมาะสมกับ ความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมที่ต้องพัฒนา
และนี่ก็คือ การ Reskills/Upskills ที่ถูกต้องเหมาะสมครับ
ใส่ความเห็น