สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อ่านบทความและข้อเขียนเกี่ยวกับประชากรสูงวัยของโลกเราจากวารสาร Harvard Business Review ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลช่วงอายุของประชากรโลก และพบว่า นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ประชากรที่มีอายุประมาณ 60 ขึ้นไปนั้น มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนมากขึ้น และเติบโตเร็วว่าสัดส่วนของประชากรในวัยทำงาน (20-59ปี) เขาประมาณการว่า เมื่อถึงปี 2050 ประชากรสูงวัย จะสูงขึ้นถึง 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2000 ซึ่งในขณะที่ประชากรในวัยทำงานนั้นสูงขึ้นเพียง 1.5 เท่าจากปี 2000 เท่านั้น
พอเห็นแบบนี้ ก็เลยมานั่งหาข้อมูลของประเทศไทยบ้างว่าเป็นอย่างไร
จากหน้า website ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และจากรายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) ของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงานเมื่อปี 2562 ได้คาดการณ์ว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะริ่มลดลงในอัตรา -0.2% ต่อปี ทำให้ในปี 2583 คาดการณ์โดยประมาณว่าประเทศไทยจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน โดยจำนวนประชากรตามโครงสร้างประชากรแบ่งเป็น
1.วัยเด็ก (แรกเกิด – 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง จากจำนวนรวมในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคนหรือ16.9% ของประชากรทั้งหมดจะลดลงเป็น 8.4 ล้านคน หรือสัดส่วนเหลือแค่ 12.8% ในปี 2583
2.ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน หรือ18% ของจำนวนประชากรทั้งหมดนั้นจะเพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน หรือ 31.28% ของจำนวนประชากรในปี 2583
“ในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จะมีแนวโน้มสูงขึ้น”
3.ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคนหรือ 65 % ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคนหรือ 56% ในปี 2583 ลดลงประมาณ 6.7 ล้านคน ขณะที่อัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563
สรุปกันง่ายๆ ก็คือ ประชากรกลุ่มผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น และประชากรกลุ่มวัยทำงานจะลดน้อยลง ซึ่งตัวเลขก็ไม่น่าจะผิดจากการคาดการณ์มากนัก
คำถามก็คือ แล้วเราในฐานะผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กร เราจะวางแผนเรื่องกำลังคนอย่างไร เราจะวางแผนเรื่องของการบริหารจัดการพนักงานในองค์กรอย่างไร ถ้าเราทราบว่า สัดส่วนของประชากรสูงอายุจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เรามาดูทางเลือกกันว่า มีอะไรบ้าง
- ขยายอายุเกษียณออกไป น่าจะเป็นทางเลือกแรกๆ เลยที่องค์กรมองเห็น และสามารถยืดอายุเกษียณออกไปได้ แต่ทั้งนี้กฎหมาย ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
- จ้างทำงานหลังเกษียณอายุ ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถทำได้ ในปัจจุบันเองก็มีหลายองค์กรที่ทำแบบนี้ เนื่องจากยังขาดคนสืบทอดตำแหน่ง ก็เลยต่อมีการต่ออายุกันออกไป
- กระจายการพัฒนาพนักงานในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น ปัจจุบัน การพัฒนาพนักงานองค์กรมักจะลงทุนไปกับกลุ่มพนักงานวัยที่เพิ่งเข้าทำงาน คือ ช่วงอายุตั้งแต่ 20-40 ปีเป็นส่วนใหญ่ พอเลยวัย 45 ปีขึ้นไป ก็จะไม่ค่อยลงทุนพัฒนาพนักงานในกลุ่มนี้มากนัก ก็คงต้องเปลี่ยนว่า อาจจะต้องลงทุนเพื่อพัฒนาพนักงานกลุ่มสูงวัยให้มากขึ้น เพราะกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนทำงานหลักขององค์กรในอนาคต
เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ เรื่องของการบริหารจัดการค่าตอบแทน และสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับกลุ่มอายุพนักงานด้วยเช่นกัน
ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในยุคนี้ ทำให้คนเราอายุยืนมากขึ้น และแข็งแรงขึ้น หลายคนอายุ 60 แต่ดูไม่เหมือน 60 และยังสามารถที่จะคิดและทำงานได้อีกนานพอสมควร เมื่อแนวโน้มของประชากรเป็นเช่นนี้ เราชาว HR ก็ต้องคิดและวางแผนเรื่องของอัตรากำลังขององค์กรให้ดี เพื่อให้องค์กรยังคงมีทรัพยากรบบุคคลที่พร้อมทำงานอย่างต่อเนื่องไม่ว่าเขาจะอายุมากแค่ไหนก็ตาม
ใส่ความเห็น