ช่วงนี้ได้ข่าวการเลิกจ้างพนักงานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพิษ Covid19 ซึ่งลุกลามจากเรื่องไวรัส มาสู่เศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้าซื้อน้อยลง โรงงานก็ต้องผลิตน้อยลง และเมื่อลดกำลังการผลิตลง การลดพนักงานก็เลยต้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่อย่างไรก็ดี การเลิกจ้างพนักงานในบ้านเรานั้น องค์กรโดยส่วนใหญ่มักจะพิจารณาเป็นกรณีสุดท้าย เรียกว่า ไม่ไหวแล้วจริงๆ จึงต้องพิจารณานโยบายนี้กัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ถ้าองค์กรของเราเน้นเรื่องของการบริหารคน เน้นว่าทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก็ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดีที่สุดก่อนที่จะเลิกจ้างกัน
หรือแม้แต่การพิจารณาเลิกจ้างพนักงาน ก็ควรจะพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอน
อยู่ที่มุมมองต่ออนาคตองค์กร ของผู้บริหารระดับสูงด้วยเช่นกัน ผู้บริหารบางคนมองแค่เพียงระยะสั้น ต้องการบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อให้องค์กรอยู่รอดปลอดภัยที่สุด แต่ยังต้องการให้มีพนักงานอยู่ทำงานในองค์กรในบางงานที่จำเป็น ก็มองการเลิกจ้างพนักงานที่มีเงินเดือนสูงๆ โดยไม่สนใจว่า คนนั้นจะเป็นอนาคตขององค์กรหรือไม่ เอาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงให้มากที่สุด
ในทางตรงกันข้าม ผู้บริหารที่มองไปในอนาคตว่า ถ้าอีกไม่นานเศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจเริ่มดีขึ้น เราต้องมีคนเก่งๆ ในการจัดการเรื่องของบริษัทในช่วงนั้นด้วยเช่นกัน ก็จะมีการกำหนดวิธีการที่จะเลิกจ้างพนักงาน โดยกำหนดปัจจัยอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องของเงินเดือนสูงๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะดูจากศักยภาพของพนักงาน ว่าใครพอจะเป็นอนาคตขององค์กรได้บ้าง ใครคือ Talent ขององค์กร มากกว่า
อันนี้อยู่ที่มุมมองของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมักจะออกมาเป็นนโยบายตามมา
บางองค์กรที่พบเจอมา ก็พยายามที่จะไม่เลิกจ้าง แต่มีนโยบายมาจากผู้บริหารว่า จะต้องลดค่าใช้จ่ายทุกด้านลง โดยเฉพาะเรื่องของเงินเดือนค่าจ้างพนักงานลงอีก xx% ซึ่งถ้าจะลดให้เร็ว ก็คือ การเอาพนักงานออกไปบางส่วน แต่ผู้บริหารบางองค์กร พยายามที่จะเก็บรักษาพนักงานไว้ให้ได้ โดยคุยกับพนักงานทุกคนว่า พอจะเสียสละลดเงินเดือนตัวเองลงคนละ xx% ได้หรือไม่ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายรวมแล้วได้ตามเป้าหมายที่องค์กรกำหนดไว้ ซึ่งก็เป็นการยอมตัดเนื้อ เพื่อรักษาชีวิต เวลาที่ธุรกิจดีขึ้น ก็จะไม่ต้องเสียเวลา และเสียงบประมาณในการสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่เข้ามาอีกรอบหนึ่ง ยังต้องเสียงบประมาณ และเวลาในการฝึกอบรมกว่าจะทำงานได้อีก
ส่วนในบางองค์กรที่ต้องเลิกจ้างพนักงานประจำจริงๆ ก็คงต้องพิจารณากันไปตามเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเลิกจ้าง หรือการสมัครใจลาออก แต่เกณฑ์ส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มจาก
- พนักงาน/ผู้บริหารที่มีผลงานแย่ติดต่อกันมาโดยตลอด หรือที่เราเรียกว่า Deadwood ขององค์กร
- กลุ่มพนักงาน/ผู้บริหารที่มีอัตรากำลังเกินกว่ากำหนด โดยพิจารณาจากผลงานย้อนหลัง
- กลุ่มงานที่มีผลกระทบต่อธุรกิจขององค์กรน้อยมาก
ไม่ว่าจะใช้นโยบายอย่างไร การเลิกจ้างพนักงาน ก็ยังอยากให้เป็นนโยบายสุดท้ายจริงๆ และถ้าต้องเลิกจ้าง หรือมีการสมัครใจลาออกกันจริง ก็ต้องไม่ลืมมองอนาคตขององค์กรไว้ด้วยเช่นกัน
พนักงานมือดี มีศักยภาพ เก่งๆ นั้น ใครๆ ก็อยากได้ตัว คนกลุ่มนี้บางคนยอมที่จะสมัครใจลาออก เพื่อรับเงินก้อน เพราะมั่นใจว่า ตนเองสามารถไปหางานใหม่ที่อื่นได้อย่างแน่นอน พนักงานกลุ่มนี้ เราต้องพิจารณาให้ดี เพราะจริงๆ คนกลุ่มนี้คืออนาคตขององค์กรเราด้วยเช่นกัน
ใส่ความเห็น