เรื่องของการทำงานเป็นทีมนั้น ยังคงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ไหนก็ตาม ถ้าต้องมีพนักงานทำงานร่วมกันมากกว่า 1 คนขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นการทำงานเป็นทีมแล้ว เวลาที่นั่งทำงานอยู่ด้วยกันในออฟฟิศ เรายังสามารถที่จะพูดคุย สร้างบรรยากาศได้ แต่ถ้าต้องทำงานห่างกัน เราจะทำอย่างไรกันดี เพื่อจะรักษาทีมงานของเราไว้ได้
ยังมีผู้บริหารหลายคนที่มองว่า การสร้างทีมงานนั้น ทำไม่เห็นจะยากเลย แค่ส่งพนักงานไปอบรมเรื่องของ Teamwork ก็จบแล้ว ประเด็นนี้ผมคิดว่า คงไม่น่าจะแค่นั้น
อย่างที่เราเคยเห็นกันมาบ่อยมากแล้วว่า การจัดหลักสูตร Team Building แล้วส่งพนักงานไปเข้าอบรมร่วมกันนั้น มันจะได้ความรู้สึกก็ตอนที่อบรมร่วมกันเท่านั้น แต่หลังจากกลับมาที่บริษัทแล้ว ความรู้สึกนั้นมันก็หายไปอยู่ดี เพราะไม่มีใครมากระตุ้น ไม่มีกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน อีกทั้ง นายๆ ทั้งหลายก็ยังทะเลาะกันเองอีก แล้วแบบนี้จะทำให้เกิดการทำงานทีมอย่างที่เราต้องการได้อย่างไร
ยิ่งในระยะนี้ที่ต้องทำงานห่างกัน หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาหลังจากหมด Covid19 ไปแล้ว ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน และอย่างที่ผู้รู้หลายๆ ท่านได้ทำนายไว้ว่า จะเกิดวิธีการทำงานแบบใหม่ขึ้น ก็คือ อาจจะมีพนักงานบางส่วนที่เราจัดให้เขาทำงานที่บ้านกันจริงๆ จังๆ มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้คนทำงานเข้าออฟฟิศน้อยลง พบกันน้อยลง แล้วความรู้สึกในการทำงานเป็นทีมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผู้จัดการ ในแต่ละระดับนี่แหละครับ คือคำตอบ จะต้องเป็นผู้ที่สร้างทีมงานให้ได้ และต้องใช้ทักษะในเรื่องนี้มากขึ้นกว่าเดิม และก็ไม่ใช่แค่เพียงการส่งพนักงานไปอบรมการทำงานเป็นทีมอีกต่อไป เพราะช่วงนี้อบรมกันไม่ได้เลย เนื่องจาก Covid19
ผู้จัดการทุกระดับ ก็คือกุญแจสำคัญในการกระตุ้นและสร้างบรรยากาศในการทำงานเป็นทีม นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่ต้องทำให้พนักงานเห็นและรับทราบก็คือ
- ระดับผู้จัดการก็ต้องทำงานเป็นทีมให้เห็น ประเด็นแรกเลยก็คือ เหล่าบรรดาผู้บริหารในทุกระดับ ก็ต้องแสดงความสามารถในการทำงานเป็นทีมให้พนักงานได้เห็นเช่นกัน ไม่ใช่มัวแต่ทะเลาะกัน เอาหน้า แทงข้างหลัง ยึดผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ฯลฯ เพราะถ้าพนักงานเห็นว่า นายตัวเองยังเป็นแบบนี้ แล้วพนักงานจะทำงานเป็นทีมได้อย่างไร
- บอกถึงเป้าหมายให้ทุกคนในทีมทราบ ผู้จัดการจะต้องสื่อสารเป้าหมายให้กับพนักงานทุกคนในทีมงานได้เข้าใจร่วมกัน ยิ่งถ้าต้องทำงานห่างกัน ก็ยิ่งต้องสื่อเป้าหมายให้ชัดเจน และต้องทำให้พนักงานทุกคนในทีมงานเห็นภาพว่า ตนเองนั้นไปมีส่วนสำคัญในเป้าหมายนั้นอย่างไร เราใช้เป้าหมายนี้ เป็นจุดยึดมั่นของทีมงานไว้ด้วยกัน และใช้การสื่อสารของผู้จัดการในการกระตุ้น สร้างความรู้สึกร่วมกันของทีม
- บอกความคืบหน้าของงานให้ทุกคนทราบ นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ การที่จะทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าตนเองอยู่ในทีมงาน ก็คือ การที่เขาต้องทราบว่า ขณะนี้ความคืบหน้าของงานที่ทำนั้นอยู่ที่ไหนแล้ว เขามีส่วนทำให้งานเสร็จสักแค่ มีปัญหาอะไรที่ต้องช่วยกันแก้ไขบ้าง การที่ผู้จัดการไม่ค่อยบอกความคืบหน้าของงาน หรือบอกแค่เพียงพนักงานบางคนนั้น จะทำให้ความรู้สึกของการทำงานเป็นทีมหายไปได้ในที่สุด
- ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้น สิ่งที่จะต้องทำให้ได้ก็คือ การประสานงานกัน การช่วยเหลือกัน โดยผู้จัดการจะต้องเป็นผู้นำทีมที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ผู้จัดการจะไม่ใช่คนลงมือทำงานทั้งหมด แต่จะเป็นคนที่คอยบริหารจัดการ สื่อสาร และประสานพนักงานทุกคนเข้าด้วยกัน
- มีการฉลองความสำเร็จเป็นระยะๆ ถ้าเป็นงานใหญ่ และมีช่วงเวลานาน เราอาจจะต้องมีการแบ่งระยะความสำเร็จของงานเป็นช่วงๆ ไว้ และจัดให้มีการฉลองความสำเร็จของงานตามระยะเวลาที่ทำงานได้เสร็จตามแผนงาน ซึ่งการฉลองก็อาจจะเป็นอะไรง่ายๆ ก็ได้ ที่สนุก และผ่อนคลาย และทำให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่าในการทำงาน และมีส่วนร่วมในความสำเร็จของงานนั้น
สำคัญสุดๆ และเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ทักษะในการสื่อสารของผู้จัดการ การที่เราจะสร้างทีมงานให้สำเร็จได้นั้น ผู้จัดการจะต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดีมาก ในบางช่วงเวลาอาจจะต้องสื่อสารในแบบที่เราเรียกกันว่า Over Communication กันเลยก็มี
ซึ่งการสื่อสารนี้ ไม่ใช่แค่เพียงการพูด และการส่งสารให้พนักงานเท่านั้น แต่ยังต้องหมายความรวมถึงการฟังที่ดีด้วย ก็คือ ฟังอย่างเข้าใจพนักงานของตนว่า คิด และต้องการอะไรในการทำงานบ้าง
แล้วการทำงานเป็นทีมจะเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องอ้างว่า ช่วงนี้อบรบ Work Rally หรือ Team Building ไม่ได้ ก็เลยไม่ทำงานกันเป็นทีม
จริงมั้ยครับ
ใส่ความเห็น