วันนี้ขอกลับมาที่วิกฤติที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเรื่องที่จะเขียนวันนี้จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และก็เริ่มเกิดขึ้นกับหลายองค์กรแล้วในตอนนี้ เรื่องดังกล่าวก็คือ แนวทาง และแนวความคิดในการบริหารคนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงวิกฤตินี้ และหลังวิกฤติ ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
แน่นอนว่าแนวความคิดในการบริหารจัดการแบบดั้งเดิม ผู้บริหารมักจะคิดว่า ผู้บริหาร ผู้จัดการ หรือผู้บังคับบัญชานั้นจะต้องเป็นผู้ที่คอยวางแผน ควบคุมดูแลงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกับพนักงานระดับปฏิบัติการ หรือแม้กระทั่งพนักงานวิชาชีพต่างๆ เพราะนั่นคือการบริหารจัดการตามรูปแบบเดิมที่เคยเรียนรู้กันมา
แต่พอช่วงวิกฤติ Covid19 ก็เริ่มต้องมีการบริหารจัดการที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่บางองค์กรเองก็ไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วบเหตุจำเป็นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการไป ยกตัวอย่างเช่น
การให้พนักงานทำงานที่บ้าน เดิมผู้บริหารบางองค์กรไม่เคยที่จะคิดเลยด้วยซ้ำว่าพนักงานจะทำงานจากที่บ้านได้อย่างไร แต่ก็ต้องเริ่มให้ทำเพราะเหตุจำเป็นจริงๆ บางองค์กร ก็เริ่มที่จะมีความยืดหยุ่นในการทำงานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาการทำงาน สถานที่ รวมถึงงานที่ทำ ก็อาจจะมีการจับคู่การทำงานด้วยกันกับพนักงานอีกคนเป็นต้น
หรือเรื่องของการประชุม ที่เคยคิดแค่เพียงว่า ต้องประชุมกันในห้องประชุมเท่านั้น ก็เริ่มต้องมีการประชุมกันผ่านหน้าคอมพิวเตอร์กัน ผู้บริหารหลายคนเริ่มเรียนรู้แนวทางใหม่ๆ นี้ก็ตอนช่วงวิกฤตินี้
ความใส่ใจทางด้านสุขภาพของพนักงานมากขึ้น จากเดิม ที่ไม่ค่อยสนใจมากนัก ป่วยก็ลาไป ไม่สบายก็ไปหาหมอ ฯลฯ แต่ช่วงนี้ ต้องคอยดูแลพนักงานอย่างดี เพราะถ้าเกิดพนักงานติดเชื้อไวรัสมา มันจะยุ่งไปทั้งการบริหารคน และบริหารงาน
ด้วยเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ทำให้ผู้บริหารไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิด และวิธีการทำงานกันใหม่ คือ
- จากการควบคุม ต้องเปลี่ยนเป็น ให้ความเชื่อมั่นในตัวพนักงาน จากเดิม ผู้บริหารมักจะมองพนักงานว่า ไม่มีทางทำงานเองได้ ถ้าไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ความเชื่อนี้ ต้องเปลี่ยน เพราะอนาคตเราอาจจะต้องมีการให้พนักงานทำงานที่บ้านกันมากขึ้นได้ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนจาก control เป็น Trust ก็คือ ต้องเชื่อมั่นในตัวพนักงานว่า สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะไม่ได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิดก็ตาม ผู้บริหารบางคนอาจจะโต้แย้งว่า มันไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันเป็นไปได้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี่เอง ผู้บริหารเองต้องปรับแนวทางว่า ถ้าเราจะ Trust พนักงานได้นั้น พนักงานคนนั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไรที่จะทำให้เราเชื่อมั่นได้ จากนั้นเราก็ต้องปรับคุณสมบัติของพนักงานกันใหม่ เพื่อที่จะได้รับพนักงานใหม่ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริหารได้มากขึ้น จากนั้นเราก็ไม่จำเห็นต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจนแทบจะไม่ได้ทำงานอะไรของตนเองเลย
- จากต้องทำตามระบบงาน ต้องเปลี่ยนเป็น ยืดหยุ่นได้ ผู้บริหารบางคน เชื่อมั่นในระบบการทำงาน กระบวนการทำงาน และวิธีการทำงาน แบบดั้งเดิม โดยที่มักจะเชื่อว่า การทำงานปรับเปลี่ยนได้ยากเพราะจะกระทบกับผลผลิตที่ได้ แต่หลังจากวิกฤติ เราได้เห็นว่า วิธีการทำงานเกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่จะเป็นต้องทำตามระบบเป๊ะๆ เวลาในการเข้าออกงาน ที่เดิมเคยต้องคอยควบคุม ก็ไม่ต้องไปสนใจมากนัก ไปดูจากผลลัพธ์ของงานก็พอ เป็นต้น
- จากที่ต้องเดินทางไปประชุมตามสถานที่ต่างๆ ก็อยู่กับที่ ประชุม online ได้ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้บริหารหลายคนปรับตัวได้แล้วในตอนนี้ เดิมทีจะรู้สึกว่า มันแปลกๆ ว่า ประชุม แต่ไม่ต้องเดินทางไปร่วมประชุม หรือไม่ต้องเข้าห้องประชุม ก็ประชุมได้ แต่ตอนนี้ เราจะรู้สึกว่า เราสามารถประชุมได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงสถานที่ดังกล่าวเลย อีกทั้งการประชุมเองก็ไม่ได้ถูกลดประสิทธิภาพลงแต่อย่างใด
- จากการบริหารที่เน้นงาน จะต้องเปลี่ยนเป็น เน้นคน เนื่องจากการทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พนักงานเอง ก็ทำงานจากที่ไหนก็ได้ แถมบางวันยังแทบไม่เจอหน้าพนักงานของตนเองเลย ดังนั้นการที่จะมัวแต่มามุ่งเน้นการบริหารจัดการที่กระบวนการทำงาน ควบคุมขั้นตอนการทำงานของพนักงาน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการบริหารจัดการพนักงานในมุมของ การสร้างพลังในการทำงาน สร้างความมุ่งมั่น สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานมากขึ้น การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ที่ทำให้พนักงานทุกคนในทีมเห็นภาพเดียวกันให้ได้ ฯลฯ จะสังเกตว่า ประเด็น Soft Skills จะทวีความสำคัญมากขึ้นกว่า Hard Skills
นี่คือประเด็นที่คนที่เป็นผู้บริหาร ผู้จัดการ จะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิด เปลี่ยนทัศนคติ มุมมองที่มีต่อการทำงานของพนักงาน และเพิ่มเติม Soft Skills ที่ต้องใช้ในการบริหารพนักงาน เพื่อการทำงานในยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า
ใส่ความเห็น