สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาอีกครั้งกับบทความใน prakal.com เพจความรู้เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล บทความนี้เป็นบทความแรกของปี 2563 ซึ่งก็น่าจะเหมือนกันในทุกบริษัทก็คือ ต้นปีแบบนี้ก็ต้องมีการคุยกันถึงเรื่องของเป้าหมายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายขององค์กร หน่วยงาน และพนักงานแต่ละคน
ช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปีประมาณเดือน มกราคมของทุกปี (เป็นอย่างช้า) เป้าหมายและแผนงานจะต้องทำให้เสร็จเพื่อที่จะได้ใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการขององค์กรในแต่ละเดือน
และช่วงเวลาในการกำหนดเป้าหมายนี้ ก็มักจะมีปัญหา และข้อจำกัดในการกำหนดตัวชี้วัดผลงานและเป้าหมายกันเป็นประจำ ทั้งๆ ที่เราก็กำหนดเป้าหมายกันมาอยู่แล้วทุกปี
ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นก็คือ เราสามารถกำหนดและเขียนผลลัพธ์ที่เราต้องการได้ แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่า ตัวชี้วัดผลงานที่จะเป็นตัวบอกเราว่า งานนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น มันต้องวัดกันที่ตัวอะไรบ้าง
นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดทุกปี
และก็มักจะปล่อยผ่านไปทุกปี จนพอถึงเวลาเก็บข้อมูล และวัดผลจริงๆ ก็เลยทำให้วัดและประเมินผลลัพธ์ที่ต้องการไม่ได้อย่างตรงไปตรงมา ลองมาดูตัวอย่างในการเขียนผลสำเร็จที่ต้องการกันว่าเขียนแบบไหนที่วัดผลยาก
- เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต คำว่า “ประสิทธิภาพ” ที่เราต้องการจริงๆ นั้นวัดประเมินอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ปลายปีนี้เรามีประสิทธิภาพดีขึ้น อะไรเป็นตัวบอกเราได้บ้างว่าประสิทธิภาพดีขึ้นจริงๆ
- เราจะเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน คำว่า “ยั่งยืน” วัดและประเมินอย่างไรกันแน่ อะไรเป็นตัวบอกว่าเรายั่งยืน หรือไม่ยั่งยืน
- เราจะสร้างบูรณาการในการทำงาน คำว่า “บูรณาการ” วัดและประเมินกันอย่างไร อะไรเป็นตัวบอกเราได้บ้าง
- จะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิผลสูง ก็อีกเช่นกัน “ประสิทธิผลสูง” อะไรเป็นตัววัด
คำพูดเหล่านี้ เขียนออกมา อ่านแล้วรู้สึกดี แต่ไม่สามารถวัดและประเมินได้อย่างชัดเจน ถ้าผู้บริหาร และผู้จัดการปล่อยให้เป้าหมายที่เขียนเบลอๆ แบบนี้ผ่านไป ปัญหาในการทำงานก็จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการเก็บข้อมูล ปัญหาในการติดตามงาน ปัญหาในการวัดผลงานปลายปี สุดท้าย เราก็จะวัดและประเมินผลกันไม่ได้จริงๆ ทั้งๆ ที่เราก็พยายามจะใช้แนวคิดในการวัดผลงานทุกปี
ดังนั้นการเขียนเป้าหมาย ควรจะเขียนให้เห็นภาพที่ชัดเจน วัดและประเมินผลสำเร็จได้ตามงานที่ปฏิบัติ เช่น
- เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต มันกว้างไป เราต้องถามตัวเองให้ได้ว่า ประสิทธิภาพในการผลิตที่เราต้องการนั้น มันคืออะไร เช่น คือจำนวนปริมาณผลผลิตที่ออกมา หรือปริมาณต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ไป หรือคือการดูผลผลิตที่ได้เทียบกับต้นทุนที่ใช้ไป โดยเอาตัวเลขปีที่แล้วมาเป็นตัวตั้ง ฯลฯ แบบนี้จะชัดเจนกว่า คนทำงานก็จะเห็นภาพมากกว่าว่าตนเองจะต้องทำอะไรให้ได้ตามเป้าหมาย ดีกว่าใช้แค่คำว่า ประสิทธิภาพ
- องค์กรแห่งความยั่งยืน คำนี้ นามธรรมมาก เราคงต้องถามตัวเองว่าเราต้องการอะไรกันแน่ ต้องการให้ลูกค้าบอกต่อกันจนกลุ่มเป้าหมายรู้จักสินค้าของเราอย่างดี หรือจริงๆ ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ในภายในองค์กร ของพนักงานเพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาติดขัดในการก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้า ฯลฯ เราจะได้วัดถูกจุด มิฉะนั้นคำว่า ความยั่งยืนนี้ จะเป็นปัญหาตามมาในการวัดผลทันที
โดยสรุปแล้ว การกำหนดตัวชี้วัดผลงาน และการกำหนดเป้าหมายนั้น เรามักจะมีหลักการ มีทฤษฎีมาประกอบมากมาย แต่สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่า กำหนดแบบง่ายๆ ใช้คำที่มองเห็นภาพความสำเร็จร่วมกัน และมองเห็นวิธีการทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะได้วัดผลได้ตรงกัน น่าจะดีกว่า เขียนด้วยคำที่สวยหรู แต่ไม่สามารถวัดผลได้ หรือไม่รู้ว่า จะวัดผลกันอย่างไร
เพราะผมยังเชื่อคำพูดของ Peter Drucker ที่ว่า “อะไรที่เราไม่สามารถวัดหรือประเมินได้ เราก็จะไม่สามารถบริหารจัดการมันได้”
ใส่ความเห็น