เรื่องของการพัฒนาพนักงานนั้น เป็นอีกเรื่องที่ขาดไม่ได้เลย ในอดีตเราพัฒนาพนักงานโดยใช้เครื่องมือที่นิยมกันมากก็คือ การส่งพนักงานไปฝึกอบรม ซึ่งจริงๆ ปัจจุบันก็ยังมีการส่งพนักงานไปอบรมอยู่เช่นกัน เพียงแต่อาจจะน้อยลงกว่าในอดีต เนื่องจากการฝึกอบรมนั้น เราจะได้ความรู้เท่านั้น แต่ถ้าเราต้องการที่จะพัฒนาทักษะ และพฤติกรรมในการทำงานของพนักงาน การฝึกอบรมมักจะไม่ค่อยได้ผล จะต้องอาศัยเครื่องมือในการพัฒนาพนักงานตัวอื่นเพิ่มเติมเข้ามา
ซึ่งปัจจุบันนี้เครื่องมือการพัฒนาพนักงานที่เป็นที่นิยมมากขึ้นก็คือ การสอนงาน (Coaching) และการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) เพราะเป็นการพัฒนาพนักงานที่เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานกันจริงๆ
ปัญหาก็คือ หลายองค์กรยังคงมีความสับสนระหว่างคำว่า การสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยงกันอยู่มาก บ้างก็ใช้ทดแทนกันไป บ้างก็ใช้สลับกัน บ้างก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่า มันแตกต่างกันอย่างไร
บทความวันนี้ก็จะพยายามทำความเข้าใจสองคำนี้ให้ชัดเจนขึ้น จะได้นำไปใช้ในการพัฒนาพนักงานได้ตรงจุดครับ นิยามของสองคำนี้ ผมนำมาจากหนังสือชื่อ Performance Coaching เขียนโดย Carol Wilson
Coaching
โดยนิยามของทาง Carol Wilson การ Coaching จะมีคุณลักษณะสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
- ไม่มีการสั่งการใดๆ แต่จะเน้นการใช้คำถามมากกว่า (Non directive) ผู้เป็นโค้ชจะไม่บอกว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะใช้คำถามเพื่อให้คิดเอง และทำได้ด้วยตนเอง เน้นให้ผู้ถูกโค้ชเรียนรู้ที่จะคิด และเพื่อให้อนาคตสามารถประยุกต์และคิดเองได้ (Ask instead of tell)
- สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้ คนที่เป็นโค้ช จะเน้นไปที่การสร้างความตื่นตัวของผู้ถูกโค้ช ให้มีความรู้สึกตื่นเต้น และอยากที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างพลังใจที่จะทำให้ผู้ถูกโค้ชสามารถคิด และรู้แจ้งอะไรบางอย่างได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องบอกอะไร เพียงแค่ถาม และสร้างความตื่นตัวในมุมมองใหม่ๆ
- อาจจะรู้ หรือไม่รู้ในเรื่องที่โค้ช คนที่เป็นโค้ช อาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ในสิ่งที่กำลังโค้ชอยู่ แต่เขาต้องรู้ว่า ถ้าจะทำให้พนักงานมีผลงานที่ดีขึ้นในเรื่องนั้นๆ เขาจะต้องถามอย่างไร และทำให้พนักงานคิดเองได้อย่างไรบ้าง โค้ชบางคนไม่รู้รายละเอียดเทคนิคการทำงานเลยด้วยซ้ำไป แต่สามารถทำให้พนักงานที่ถูกโค้ชนั้น เรียนรู้ได้ และเก่งขึ้นได้
Mentoring
- เน้นไปที่การบอกกล่าว ระบบพี่เลี้ยงจะเน้นไปที่การบอกให้ทำ เช่น การบอกถึงขั้นตอนการทำงาน การชี้แจงแนวทางในการทำงานร่วมกัน แนวทางในการอยู่ร่วมกัน ฯลฯ จะมีการบอกถึงขั้นตอน และเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้ทันที ไม่ต้องมานั่งคิดเอง
- รู้เรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดี คนที่เป็นพี่เลี้ยงนั้น จะต้องเป็นคนที่รู้เรื่องนั้นๆ อย่างดี เพราะต้องมาเป็นคนให้คำแนะนำ และบอกถึงขั้นตอนในการทำงาน รวมทั้งแนะนำได้ว่าถ้าเกิดปัญหาจะต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ได้ จะไม่เหมือนโค้ช ที่อาจจะรู้ หรือไม่รู้เรื่องนั้นๆ ก็ได้ แต่สอนให้คิดได้
- เน้นไปที่การให้คำแนะนำและบอกแนวทาง ระบบพี่เลี้ยงจะเน้นไปที่การให้คำแนะนำอย่างตรงไปตรงมา และเน้นไปที่การบอกแนวทางที่ถูกต้องในการทำงาน เช่นระบบพี่เลี้ยงในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร คนที่เป็นพี่เลี้ยงจะบอกตรงๆ เลยว่า วัฒนธรรมขององค์กรที่นี่เป็นอย่างไร และถ้าจะทำงานให้มีความสุขจะต้องคิดอย่างไร มองอย่างไร และมีขั้นตอนในการพูดคุยกับผู้ใหญ่อย่างไรบ้าง ฯลฯ ผิดกับโค้ชที่มักจะใช้คำถามแล้วให้เราคิดเองว่าเราควรจะทำอย่างไรดี
- แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระบบพี่เลี้ยงจะเน้นไปที่การให้ประสบการณ์ของคนที่เป็นพี่เลี้ยง จะนำเอาประสบการณ์ในการทำงาน และความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเล่าให้ฟัง และมาบอกเพื่อที่ไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ จะเน้นไปที่การทำให้คนทำงานสามารถทำงานได้ทันที ในระยะเวลาที่สั้นๆ
ถ้าเราต้องการฝึกให้พนักงานรู้จักคิด และประยุกต์ใช้ หรือสร้างความมั่นใจในการทำงาน ทำให้รู้ด้วยตนเอง ฯลฯ เราก็ควรจะใช้การ Coaching เป็นหลัก แต่ถ้าเราต้องการให้พนักงานทำงานได้เลย รู้จักเทคนิคในการทำงาน และแก้ไขปัญหาหน้างานได้อย่างเชี่ยวชาญ อยากให้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร และมีเวลาในการฝึกฝนน้อย ก็ต้องใช้ระบบพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยพัฒนาพนักงาน
ใส่ความเห็น