Recognition ทักษะสำคัญของการเป็นผู้บังคับบัญชา

ยังมีอีกหลายคนที่มีมุมมอง และทัศนคติของการเป็นผู้บังคับบัญชาที่ไม่ค่อยเหมาะสมในยุคนี้มากนัก ก็คือ ยังมีคนที่ดำรงตำแหน่งในระดับบังคับบัญชาที่คิดว่า การเป็นผู้บังคับบัญชา ก็คือ เราต้องบังคับให้ลูกน้องทำงานให้ได้ และต้องบัญชาการสั่งการเองทั้งหมด ลูกน้องต้องเชื่อฟัง และต้องทำตามที่เราสั่งเท่านั้น ห้ามเป็นอย่างอื่น

ท่านผู้อ่านเคยเจอกับผู้บังคับบัญชาแบบนี้บ้างหรือไม่ หลายท่านอาจจะคิดว่า ยังมีอยู่อีกหรือในปัจจุบัน ต้องตอบว่ายังมี และมีอีกเยอะด้วยครับ จากที่ประสบพบเจอมากับตัวเอง

ทัศนคติของคนที่ถูกเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้า เป็นตำแหน่งระดับบังคับบัญชา เขาก็จะคิดว่า พอได้ตำแหน่งหัวหน้าแล้ว เขาจะใหญ่ที่สุดในทีม สามารถที่จะสั่งการได้ทุกอย่าง สามารถที่จะชี้เป็นชี้ตายพนักงานได้หมด และยิ่งไปกว่านั้น ห้ามลูกน้องหือเด็ดขาด

ผลของการคิดแบบนี้ก็คือ เขาจะกลายเป็นผู้บังคับบัญชาที่สั่งอย่างเดียว และบังคับอย่างเดียว ไม่มีศิลปะในสิ่งที่เราเรียกมันว่า การบริหารจัดการ คนกลุ่มนี้มักจะคิดว่า การบริหารจัดการของตำแหน่งหัวหน้าก็คือ การสั่ง สั่ง สั่ง และก็บังคับให้ลูกน้องทำงานให้ได้ตามที่เราต้องการ โดยไม่ต้องไปสนใจว่า ลูกน้องจะรู้สึกอย่างไร เพราะเขามาทำงานก็ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นผลตอบแทนในการทำงานอยู่แล้ว

ด้วยความคิดดังกล่าวข้างต้น ก็เลยทำให้หลายๆ คนที่เติบโตขึ้นมาเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ ผู้บริหาร มีวิธีการบริหารจัดการทั้งคน และงานไปในทางสั่งการและบังคับจริงๆ โดยไม่ใส่ใจว่า ลูกน้องของตนเองจะรู้สึกอย่างไร สุดท้าย ลูกน้อง และทีมงาน ก็จะเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากทำงานกับนายแบบนี้ นายไม่เคยให้เกียรติ ไม่เคยรับทราบความรู้สึกเลย ฯลฯ ซึ่งก็จะส่งผลต่อแรงจูงใจของพนักงานในทีมงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และนี่ก็คือทักษะหนึ่ง ที่ผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ยังขาด และยังต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งก็คือ ทักษะด้าน Recognition หรือแปลเป็นไทยว่า ทักษะในการตระหนักในความสำคัญของพนักงาน

การมี Recognition ก็คือ การทำให้พนักงานตระหนักว่า เขามีความสำคัญ เขามีฝีมือ และเขาได้รับการยอมรับจากเราในฐานะหัวหน้าของเขา การจะทำให้พนักงานรู้สึกแบบนี้ได้ แปลว่า หัวหน้าต้องฝึกฝนทักษะด้านนี้ มีอะไรบ้างมาดูกันครับ

  • ให้คำชมเชย พนักงานที่ทำงานได้ดี ย่อมต้องการคำชมจากหัวหน้าของตนเอง ดังนั้น จงอย่าปิดปากเงียบเวลาที่พนักงานสร้างผลงานที่ดี เอ่ยปากชมเชยพนักงานบ้าง แค่เรื่องนี้ สำหรับหัวหน้าบางคน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเขา เพราะไม่เคยชมใคร มีแต่ด่า และตำหนิเท่านั้น แต่ถ้าเราต้องการเป็นหัวหน้าที่ดี ได้ใจลูกน้องก็คงต้องฝึกเรื่องของการให้คำชมไว้บ้างก็จะดีครับ

 

  • สอบถามความคิดเห็นของพนักงานบ้าง อย่าเอาแต่สั่งการอย่างเดียว ในบางครั้ง เราสามารถให้พนักงานแสดงความคิดเห็นของเขาเองออกมาได้เช่นกัน การให้พนักงานแสดงความเห็นได้นั้น เป็นการบอกพนักงานทางอ้อมว่า เราให้ความสำคัญกับคุณอยู่นะ และเวลาที่พนักงานแสดงความเห็นแล้ว ก็อย่าลืม กล่าวชื่นชมเขาบ้างที่แสดงความเห็นดีๆ ให้กับทีมงาน

 

  • ทำให้เขารู้ว่า เรายอมรับในฝีมือของเขา อันนี้สำคัญ ตัวพนักงานที่เข้ามาทำงาน เข้าไม่ได้ต้องการแค่เงินเดือนอย่างเดียว แต่เขาต้องการให้คนที่เป็นหัวหน้าโดยตรงของเขายอมรับในฝีมือของเขาด้วย ดังนั้น ถ้าพนักงานคนนั้นเป็นคนเก่ง ทำงานดี และมีความรู้ความสามารถสูง เราในฐานะหัวหน้า ก็สามารถบอกเขาได้ว่า เขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรเราประสบความสำเร็จได้ เป็นต้น

 

  • ใส่ใจในความเป็นอยู่ของพนักงานบ้าง เช่น เรื่องส่วนตัว ความรู้สึก ทุกข์ สุข ต่างๆ ถ้าเราใส่ใจ พนักงานก็จะรู้สึกว่า เราเป็นหัวหน้าที่อบอุ่น และไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว และที่สำคัญก็คือ ถ้านาย ให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของพนักงาน จะทำให้พนักงานรู้สึกมีพลังในการทำงาน และจะตั้งใจทำงานให้กับนายมากขึ้นกว่าการที่นายไม่ใส่ใจอะไรเลย

Recognition ง่ายๆ ข้างต้น หลายท่านอาจจะบอกว่า ยากจัง แต่ถ้าเราตั้งใจจะเป็นนายที่ดี เป็นหัวหน้าที่ดีแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ยากเกินความตั้งใจของเราแน่นอนครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: