เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ทำ poll เล็กๆ ในกลุ่ม line open chat คู่คิดเรื่องคน ในเรื่องที่ว่า ถ้าพนักงานเงินเดือนชนเพดานเงินเดือนแล้ว จะทำอย่างไรกันดี เพื่อที่จะให้สมาชิกในกลุ่ม ได้แชร์และโหวตว่า ที่บริษัทมีวิธีการอย่างไรสำหรับประเด็นนี้
ซี่งจากผลการโหวตที่ได้มา แน่นอน ต้องมาจากบริษัที่มีโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจน เพราะถ้าบริษัทใด ที่ไม่มีโครงสร้างเงินเดือน ก็คงจะไม่มีเพดานเงินเดือนให้ชนแน่นอน
ด้วยหลักการของการบริหารโครงสร้างเงินเดือนนั้น เมื่อไหร่ที่พนักงานเงินเดือนชนเพดานเงินเดือน นั่นก็แปลง่ายๆ ว่า พนักงานคนนั้นได้เงินเดือนที่สูงกว่าตลาดสำหรับงานในตำแหน่งนั้นแล้ว เพราะตลาดจะอยู่ประมาณ mid point ของโครงสร้างเงินเดือน และเมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่มีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานคนนั้นอีกต่อไป เพราะว่าเงินเดือนชนเพดานแล้ว ไม่มีที่ให้ขึ้นแล้วนั่นเอง
แต่จากผลโหวตที่ได้มา เป็นดังนี้
- 30% ตอบว่า ที่บริษัทให้เป็นเงินก้อนแยกต่างหากจากเงินเดือน สำหรับพนักงานที่เงินเดือนชนเพดานเงินเดือน ก็คือ เงินเดือนยังคงเท่าเดิม ไม่มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่เพื่อมิให้เป็นการเสียน้ำใจ ที่พนักงานทำงานให้กับองค์กรมาทั้งปี ก็เลยให้แยกเป็นเงินก้อนตามผลงานที่พนักงานทำได้ โดยไม่รวมเข้าไปในเงินเดือนปกติของพนักงาน แต่วิธีนี้ เมื่อครบปี เงินก้อนนี้ก็จะถูกคำนวณใหม่ตามผลงานที่ได้ใหม่ในปีถัดไป ซึ่งเงินก้อนนี้จะไม่มีการทบต้นไปเรื่อยๆ จะตัดคำนวณใหม่ทุกปีตามผลงานไป
- 10 % ตอบว่า ไม่มีนโยบายในการขึ้นเงินเดือนสำหรับพนักงานที่เงินเดือนชนเพดานแล้ว
- 5% ตอบว่า ที่บริษัทยังคงมีการขึ้นเงินเดือนให้ตามปกติ ในกรณีนี้ ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า แล้วบริษัทจะมีโครงสร้างเงินเดือนไปเพื่ออะไร ถ้าไม่มีการบริหารโครงสร้างเงินเดือนตามหลักการที่ถูกต้อง
- 17% ยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน ก็เลยไม่มีพนักงานคนไหนต้องชนเพดานเงินเดือน
ที่น่าสนใจก็คือ มีท่านสมาชิกที่ตอบเพิ่มเติมมาจำนวน 38% ว่า ต้องส่งเสริมให้พนักงานเติบโตไปยังตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือเติบโตไปยังสายอาชีพที่สูงขึ้น เพื่อเงินเดือนจะได้ไม่ตัน
ซึ่งประเด็นสุดท้ายนี่แหละครับ ที่ผมมองว่า มันเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งในหลายๆ ข้อของการมีโครงสร้างเงินเดือน ก็คือ เป็นเครื่องมือส่งสัญญาณให้กับพนักงานทราบว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้นไปยังระดับงานถัดไปได้แล้ว เพราะระดับงานที่ทำงานอยู่นี้ ใกล้จะชนเพดานแล้ว ถ้าไม่พัฒนา พอถึงเวลาที่ตัน ก็จะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน หรือขึ้นแบบมีข้อจำกัดบางอย่างนั่นเอง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเครื่องมือในการทำให้พนักงานพัฒนาตนเองได้
ขออนุญาตเสริมหลักการในการบริหารโครงสร้างเงินเดือนเพิ่มเติมสักเล็กน้อย ก็คือ ฝ่ายบุคคลควรจะทำสัญญาณเตือนไปยังผู้จัดการสายงานในกรณีพนักงานเงินเดือนใกล้จะตันแล้ว โดยใช้การคำนวณประมาณว่า ถ้าเงินเดือนพนักงานเข้าสู่ตัวเลขที่ว่า อีกประมาณ 5 ปีข้างหน้าเงินเดือนจะชนเพดานแล้ว ก็ต้องบอกให้ผู้จัดการที่เป็นหัวหน้าของพนักงานคนนั้นทราบ
ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้วางแผนในการพัฒนาพนักงานให้เติบโตก้าวหน้าไปตามสายอาชีพ เงินเดือนก็จะได้ไม่ตัน ซึ่งวิธีนี้ พนักงานก็ win เพราะเงินเดือนไม่ตัน แถมยังได้เลื่อนตำแหน่ง และองค์กรก็ Win เพราะพนักงานสามารถรับผิดชอบงานที่ยากขึ้นได้ตามระดับงานที่สูงขึ้นไปอีก
แต่สิ่งที่ผมยังเห็นอยู่ในบางองค์กรก็คือ ไม่มีการพัฒนาอะไร พอพนักงานเงินเดือนชนเพดาน ก็ผลักไประดับงานถัดไปทันทีแบบอัตโนมัติ แบบนี้ผมคิดว่าระยะยาว บริษัทจะมีปัญหาที่ว่า จะมีแต่พนักงานที่ทำงานได้แบบเดิม แต่บริษัทต้องจ่ายเงินเดือนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้มูลค่าเพิ่มอะไรจากพนักงานเลย
ก็คงต้องระวังในประเด็นนี้ด้วยเช่นกันครับ
ใส่ความเห็น