ปัจจุบันนี้หลายๆ องค์กรได้มีการใช้สวัสดิการในด้านของ Work Life Balance กันมากขึ้น รวมถึงมีสวัสดิการแบบยืดหยุ่นให้พนักงานเลือกใช้ และบริหารจัดการตนเองได้ตามสถานการณ์ชีวิตของตนเอง ทั้งนี้วัตถุประสงค์ก็คือ เพื่อที่จะทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจ และรู้สึกว่า องค์กรให้ความสำคัญกับพนักงานมากขึ้น ซึ่งพนักงานเองก็จะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ตามสไตล์การใช้ชีวิต และการบริหารเวลาของตนเอง
ในมุมของพนักงาน เมื่อทราบว่าองค์กรที่ตนทำงานด้วยนั้น มีระบบสวัสดิการแบบยืดหยุ่น และพยายามจะสร้าง work life balance ก็ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดี เกิดความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น ซึ่งองค์กรเองก็หวังว่า จุดนี้จะทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน
แต่ในทางปฏิบัติสวัสดิการแบบยืดหยุ่น รวมถึง สวัสดิการเพื่อ work life balance กลับไม่เกิดขึ้นจริง แม้ว่าองค์กรเองจะประกาศให้พนักงานทราบแล้ว ก็ตาม แต่สุดท้ายพนักงานกลับไม่รู้สึกว่า องค์กรที่ตนเองทำงานด้วยนั้น ไม่เห็นจะยืดหยุ่นอย่างที่ประกาศไว้เลย
ทราบหรือไม่ครับว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พนักงานรู้สึกแบบนั้น
สาเหตุหลักของประเด็นข้างต้นก็คือ “ผู้จัดการ” ในองค์กรนั้นนั่นเอง
ทำไมถึงเป็นผู้จัดการ หรือหัวหน้างาน คำตอบก็คือ หัวหน้างานและผู้จัดการบางคน (อาจจะเป็นคนส่วนใหญ่) โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงๆ ซึ่งมีอายุค่อนข้างจะเยอะหน่อย ลึกๆ แล้วไม่ได้รู้สึกดีต่อเรื่องของสวัสดิการแบบยืดหยุ่น กับเรื่องของ Work life balance สักเท่าไหร่นัก
ตัวอย่างเช่น
- เรื่องของเวลาในการเข้าทำงาน ผู้จัดการและผู้บริหารบางคนไม่ชอบที่จะให้พนักงานของตนเองมาทำงานสาย แต่ด้วยกฎเกณฑ์ที่ออกมาแล้ว เขาจะไปว่าพนักงานคนนั้นตรงๆ ก็ไม่ได้ แต่สุดท้าย เขากับประเมินผลงานพนักงานคนนี้ด้วยความรู้สึกของตนเอง โดยเทียบกับพนักงานที่มาเช้า และนำข้ออ้างเรื่องผลงานที่ได้ว่าแย่กว่าคนที่มาทำงานแต่เช้า
- เรื่องของการทำงานที่ไหนก็ได้ พอพนักงานไม่เข้ามาทำงานในบริษัท ผู้จัดการไม่เห็นตัวพนักงาน ก็มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อพนักงานคนนั้นไปแล้ว ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลต่อผลงานของพนักงานคนนั้นในตอนปลายปี
- เรื่องของการลาเพื่อไปดูแลครอบครัวเวลาป่วย ซึ่งนโยบายนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้สิทธิพนักงานทำได้ แต่ผู้จัดการบางคน ไม่สนใจเรื่องส่วนตัวของพนักงาน สนใจแต่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว พอเห็นพนักงานแสดงพฤติกรรมแบบนี้ ก็พยายามเชื่อมโยงกับปัจจัยในการประเมินผลงานของพนักงานในทันที
ยังมีตัวอย่างให้เห็นอีกมากมาย ที่ผู้บริหารระดับสูงๆ และผู้จัดการ เป็นสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ระบบสวัสดิการ และการทำงานแบบยืดหยุ่น รวมถึงสวัสดิการแบบ Work Life Balance นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในทางปฏิบัติ ทั้งๆ ที่องค์กรเองก็พยายามที่จะสร้างภาพพจน์ในการบริหารทรัพยากรบุคคลใหม่ๆ ให้กับสาธารณชนได้เห็น เพื่อจะได้สร้างข้อได้เปรียบในการว่าจ้างพนักงาน
ดังนั้นถ้าต้องการจะวางระบบการทำงานแบบยืดหยุ่น สวัสดิการแบบ Work Life ก็คงต้องให้ความรู้ เพื่อที่จะปรับทัศนคติและมุมมองของกลุ่มผู้จัดการเสียใหม่ ให้เข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำงานยุคปัจจุบันให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
จริงๆ ผมก็เข้าในคนรุ่นคุณพ่อผมเหมือนกันนะครับ ทำงานหนัก ต้องถึงบริษัทแต่เช้า และต้องทุ่มเททำงานจนดึกดื่น เพื่อแสดงให้เจ้านายเห็นว่า เขาขยัน ทุ่มเทอย่างมาก จากพฤติกรรมตรงนั้น
ซึ่งในยุคนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว และผมเชื่อว่า ผู้บริหารและผู้จัดการรุ่นก่อน ก็พร้อมที่จะเข้าใจ และปรับเปลี่ยน เพียงแต่ต้องให้ความรู้ และให้เวลาในการปรับตัวสักหน่อย รวมทั้งสอนแนะนำถึงเครื่องมือในการติดตามงานแบบใหม่ๆ ให้กับเขา
แล้ว การทำงานแบบยืดหยุ่น และ สวัสดิการ Work life Balance ก็จะเกิดขึ้นได้จริงตามที่เราตั้งใจ
ใส่ความเห็น