สิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อพนักงานรู้สึกว่างานที่ตนทำมีความหมาย

เมื่อวานนี้ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของความรู้สึกของพนักงานที่รู้สึกว่างานที่ตนทำนั้นมีความหมาย (Meaningful work) ว่าเป็นความรู้สึกที่สำคัญมาก ที่ผู้นำ ผู้จัดการ และหัวหน้างาน จะต้องทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ ไม่ว่าจะในตำแหน่งอะไร ระดับใดก็ตาม รู้สึกถึงความสำคัญของงานที่ตนเองทำ

วันนี้จะมาต่อยอดจากเมื่อวานนี้ว่า แล้วถ้าพนักงานรู้สึกว่างานที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้น มีความหมายต่อเขา และมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

อ้างอิงจากงานวิจัยเดิมของ BetterUp Labs ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาภาวะผู้นำ ตั้งอยู่ที่ San-Francisco ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งวิจัยและสอบถามพนักงานมากกว่า 2,000 คน และได้ทำการแยกแยะความรู้สึกของพนักงานกลุ่มนี้ว่าใครบ้างที่รู้สึกต่องานของตนเองอย่างไร ใครบ้างที่รู้สึกว่างานที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้น เป็นงานที่มีความหมายมาก จากนั้นก็พิจารณาจากพฤติกรรมในการทำงานของคนกลุ่มที่รู้สึกว่างานของตนนั้นมีความหมาย ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานที่รู้สึกอย่างนั้น

  • รู้สึกสนุกในการทำงาน พนักงานที่รู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีความหมาย เขาจะรู้สึกสนุกกับการทำงานนั้นมาก จะมีพฤติกรรมในการทำงานที่ไม่จักเหน็ดเหนื่อย อีกทั้งถ้างานที่ทำอยู่นั้นเกิดปัญหาขึ้นมา พนักงานกลุ่มนี้จะไม่มองว่านั่นคือปัญหา แต่จะมองว่า นั่นคือโอกาส และคือสิ่งที่ท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามาพิสูจน์ความสามารถของตนเอง ซึ่งยิ่งทำให้พนักงานคนนี้อยากที่จะหาทางในการแก้ไขปัญหานั้นให้ได้อย่างดีที่สุด ก็ยิ่งทำให้ผลงานดีขึ้นไปอีก

 

  • ทำงานโดยไม่สนใจเวลา พนักงานกลุ่มนี้จะทำงานโดยไม่สนใจว่า ขณะนี้เป็นเวลาเท่าไหร่ เขายินดีที่จะอยู่ดึกมากขึ้น หรือเข้ามาทำงานในวันหยุดได้ โดยที่ไม่เรียกร้องอะไรจากองค์กรเลย เพราะเขาถือว่านี่คือความรับผิดชอบของเขาเองที่จะต้องทำงานนี้ให้สำเร็จให้ได้ เพราะนี่คืองานที่มีความหมายสำหรับเขานั่นเอง

 

  • มีความสุขที่ได้มาทำงาน พนักงานจะมีความสุขที่ได้มาทำงาน มีความกระตือรือร้น มีแรงจูงใจในการทำงาน ทุกวันอยากตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อที่จะมาสร้างสรรค์ผลงานที่ดี ที่มีความหมาย

 

  • ไม่คิดที่จะลาออกไปที่อื่นง่ายๆ พนักงานกลุ่มนี้จะไม่คิดเปลี่ยนงาน ไม่คิดลาออกจากงานอย่างง่ายๆ อีกทั้งยังต้องการที่จะสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะถ้าองค์กรทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ และงานของเขาก็เป็นงานที่สำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร และเป็นงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่น หรือสร้างสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตของคนอื่นได้

 

  • รักงานที่ทำมาก พนักงานจะรู้สึกรัก และรู้สึกเป็นเจ้าของงานที่ทำ และรู้สึกมีส่วนร่วมกับความสำเร็จขององค์กร อีกทั้งยังรุ้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรด้วย ดังนั้น เวลาที่องค์กรต้องการความช่วยเหลืออะไรเวลาที่มีปัญหา พนักงานกลุ่มนี้จะเสนอตัวเองเข้าช่วยเหลือก่อนทันที

ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกแบบข้างต้นกับการทำงานของตนเองบ้างหรือไม่ครับ ถ้ารู้สึกมากกว่า 2 จาก 5 ข้อข้างต้น แสดงว่า ท่านเองรู้สึกดีกับงานที่ทำอยู่อย่างมากทีเดียว และกำลังสนุกกับงาน เพราะว่างานที่ท่านทำนั้นมันมีความหมายมาก

อย่างไรก็ดี องค์กรเองก็ควรจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการทำงานของพนักงานกลุ่มนี้ให้ดีเช่นกัน เนื่องจากพนักงานกลุ่มนี้จะทุ่มเททำงานอย่างมากจนบางครั้งลืมเวลาไปเลยก็มี แนวโน้มในการเกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงานมันก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย (Burnout) ดังนั้น เรื่องของการให้สวัสดิการในเรื่องของ Work Life จึงมีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของเวลาในการทำงาน

บางองค์กรก็จัดให้พนักงานกลุ่มนี้ได้มีโอกาสได้หยุดพักยาวๆ หลังจากที่งานเสร็จ หรือสำเร็จลุล่วงไปได้ บางแห่งก็ยินดีให้พนักงานใช้เวลายืดหยุ่นในการทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะรู้แน่ๆ ว่า เขาไม่ทิ้งงานแน่นอน

หนักไปกว่านั้น บางองค์กรยังพบว่า พนักงานไม่ยอมลา ไม่ยอมหยุด แต่ชอบที่จะทำงาน ซึ่งแน่นอนมันดีต่อองค์กร แต่ฝ่ายบุคคล และหัวหน้างานเองจะต้องคอยดูแลเรื่องเหล่านี้ของพนักงานกลุ่มนี้ให้ดี

เพราะถ้าเหนื่อยล้าเกินไป แทนที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดี มันก็จะเกิดผลเสียต่อผลงาน และต่อสุขภาพของพนักงานเอง ซึ่งยิ่งทำให้เกิดผลเสียในระยะยาวตามมาอีกเช่นกัน

เมื่อพนักงานทุ่มเทให้กับงานที่มีความหมายแล้ว องค์กรก็ต้องไม่ลืมที่จะดูแลและใส่ใจพนักงานกลุ่มนี้ด้วยนะครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

บลอกที่ WordPress.com .

Up ↑

%d bloggers like this: