เรื่องของการลาออกของพนักงานนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ พนักงานมีเข้ามาทำงาน ก็ต้องมีการขอลาออกไปกันบ้าง หลายๆ องค์กรต่างก็ต้องมีวัฏจักรนี้ บางแห่งถึงกับจะต้องบังคับให้มีอัตราการลาออกของพนักงานกันเลยก็มี แต่ถ้าในกรณีที่พนักงานมือดีที่สุด ผลงานดีที่สุด และเป็นพนักงานที่โดดเด่นที่สุดในหน่วยงานของเรา เดินมาบอกกับเราในฐานะที่เราเป็นหัวหน้าเขาว่า “พี่ครับ ผม/หนู ขอลาออกครับ(ค่ะ) ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้า ท่านจะดึงเข้าไว้ให้ทำงานต่อหรือไม่
ด้วยคำถามนี้ คำตอบที่ได้ก็จะมีว่า
- ดึงให้อยู่ต่อ โดยสอบถามถึงสาเหตุที่จะลาออก และเสนอการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ดีขึ้นให้กับพนักงานคนนั้น อาทิ ปรับเงินเดือนให้ใหม่ หรือบางทีก็เลื่อนระดับงานให้ใหม่ บางแห่งก็เลื่อนตำแหน่งให้ เพื่อที่จะให้พนักงานเปลี่ยนใจและอยู่ต่อ ถ้าพนักงานให้เหตุผลว่าที่ลาออกไป ก็เพื่อที่จะหาทางในการเติบโต และหาความท้าทายใหม่ๆ ทางบริษัทก็มักจะเสนองานที่ท้าทายให้ ที่ตรงกับสิ่งที่พนักงานคนนั้นอยากทำ
- คุยกันถึงสาเหตุ และสนับสนุนให้ไปตามความฝันของตนเอง (ถ้าพนักงานต้องการไปจริงๆ) ผู้บริหารอีกส่วนหนึ่งก็ตอบว่า ถ้าพนักงานที่เก่งๆ คนนั้นต้องการที่จะลาออกจริงๆ ก็จะเรียกคุยก่อน เพื่อสอบถามถึงสาเหตุจริงๆ ว่าทำไม และจะมีการทาบทามเพื่อให้อยู่ต่อ แต่อาจจะไม่ได้เสนอปรับเปลี่ยนทางด้านเงินเดือนและตำแหน่งแบบทันที เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ระบบบริหารบุคคลของบริษัทเสียหายได้ แต่จะคุยถึงแนวทางที่พอจะปรับเปลี่ยนให้ได้ เพื่อที่จะได้ให้พนักงานรู้สึกอยากอยู่ต่อ
จะมีหัวหน้างานบางคน ที่พอรู้ว่าพนักงานมือดีจะไปแล้ว ก็แสดงพฤติกรรมแย่ๆ ออกมา เช่น ไม่คุยด้วย ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่อะไรเลย เพราะโกรธ และไม่พอใจที่พนักงานจะลาออกไป แบบนี้ท่านคิดว่าเหมาะสมหรือไม่
จริงๆ ถ้าพนักงานต้องการจะไปจริงๆ ผมคิดว่า จะรั้งอย่างไร ก็ไปอยู่ดี การที่เราใช้เครื่องมือเพื่อดึงพนักงานไว้ เช่น การให้เงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้น หรือการเลื่อนตำแหน่งให้ สิ่งเหล่านี้ มันเป็นแค่เพียงตัวช่วยในระยะสั้นเท่านั้น สุดท้ายพนักงานคนนี้ก็จะไปอยู่ดี เขาอาจจะอยู่ต่อกับเราอีกสัก 1 ปี แต่ถ้าลึกๆ แล้วเขาต้องการที่จะลาออกจริงๆ สุดท้ายยังไงเขาก็ไป
ส่วนในกรณีที่สาเหตุของการลาออกของพนักงานเก่งๆ เป็นเรื่องของการไม่ได้รับการดูแลที่ดี หรือขาดการเอาใจใส่จากหัวหน้า ขาดการพัฒนา ขาดแรงจูงใจจากการทำงาน เพราะนายไม่ใส่ใจในเรื่องของการบริหารคน ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้ ถ้าเราทราบจากพนักงาน และต้องการให้เขาอยู่ต่อ อันนี้เราก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และวิธีการบริหารจัดการพนักงานอย่างเร่งด่วนเลย เพราะด้วยสาเหตุเหล่านี้ คนเก่งก็ไม่อยากอยู่ แต่จริงๆ เขาไม่ได้ต้องการลาออกจากองค์กรนี้ แต่เพราะเขาถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม ก็เลยต้องการจะไป แบบนี้ยังพอ
แต่ถ้าพนักงานที่ขอลาออก ด้วยสาเหตุว่าต้องการลาออกจริงๆ ต้องการหางานใหม่ ต้องการความท้าทายใหม่ๆ ต้องการเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ ฯลฯ เหตุผลเหล่านี้ (ถ้าเป็นเหตุผลที่แท้จริง) การดึงพนักงานด้วยค่าจ้าง หรือด้วยสิ่งตอบแทนอื่นๆ นั้น ไม่ได้ผลอย่างแน่นอน เพราะยังไงเขาก็จะไปแน่ๆ
ดังนั้นถ้าผู้จัดการเข้าใจ ก็น่าจะต้องคุยกันด้วยความเข้าใจ และยินดีไปกับพนักงานที่ได้งานใหม่ที่ตนเองต้องการ อีกทั้งอวยพรให้พนักงานได้ดี ได้ความก้าวหน้าต่อไป เพราะการจากกันด้วยดีนั้น ไม่แน่ว่าอนาคตพนักงานมือดีคนนี้อาจจะกลับมาทำงานกับองค์กรเราใหม่อีกครั้งก็ได้ หลังจากที่ออกไปหาประสบการณ์เพิ่มเติมมาอย่างเต็มที่แล้ว
เราก็จะได้พนักงานมือดี ที่มีประสบการณ์มากมาย กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง
ใส่ความเห็น